“กองทุนประหยัดภาษี (Tax Fund)” เป้าหมายหลักที่แท้จริงเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะส่งเสริมเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา โดยให้ประโยชน์ทางภาษีเป็นสิ่ง ‘จูงใจ’ ให้คนมาทำนั่นเอง
ปัจจุบันก็มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)” เพื่อจูงใจให้ประชาชนคนไทยมีการเก็บออมเงินเพื่อเกษียณด้วยตัวเอง
“กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF)” เพื่อจูงใจให้คนหันมาลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมมากขึ้นเป็นการเพิ่มนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยช่วยสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นมา ซึ่งจะใช้สิทธิได้จนถึง ‘สิ้นปี2019’ นี้เป็นปีสุดท้ายแล้ว
ดังนั้น เป้าหมายหลักของ ‘กองทุนประหยัดภาษี’ จึงมิใช่ ‘ประโยชน์ทางภาษี’ แต่ประการใด เรียกว่า...ใน ‘ภาษี’... ‘ไร้ภาษี’ นั่นเอง
ลงทุน...แสวงหา “ผลตอบแทน” เป็นเป้าหมายหลัก
บางครั้งการสื่อสารก็เป็นอุปสรรคทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เช่นกัน อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า... “ประโยชน์ทางภาษี” เป็น ‘ของแถม’ ที่รัฐให้มาเพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนเข้ามาทำอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นเอง ในที่นี้ คือ ให้เพื่อเข้ามาใช้เครื่องมืออย่าง “กองทุนรวม” ให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมายที่รัฐต้องการนั่นเอง
การลงทุนโดยเบสิกแล้วเราต้องการแสวงหา “ผลตอบแทน” ที่ดีคุ้มค่ากับความเสี่ยงเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ นี่คือ สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรตระหนัก
“หากคุณต้องการแค่ประโยชน์ทางภาษี ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่รัฐให้มาไว้เช่นกัน เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นต้น ก็ต้องพิจารณาดูว่าทางเลือกไหนที่เหมาะกับคุณและตอบโจทย์ตัวคุณเองได้ดีที่สุด”
ถ้าคุณเข้าใจเช่นนี้แล้ว ‘กอง LTF’ ที่ประโยชน์ทางภาษีจะใช้ได้ถึงสิ้นปี2019 นั้น ก็คงไม่น่ากังวลอะไร เพราะถ้าคุณต้องการ “ผลตอบแทน” กองทุนหุ้นปกติก็ยังตอบโจทย์คุณได้ และหากคุณยังต้องการ ‘ของแถม’ เป็นประโยชน์ทางภาษี กลุ่ม ‘กอง RMF’ ก็ยังสามารถตอบโจทย์คุณได้เช่นกัน
‘กอง LTF’...ไร้ประโยชน์ทางภาษี แต่ไม่ไร้ ‘ผลตอบแทน’
เพราะการลงทุนแสวงหา “ผลตอบแทน” เป็นหลัก นั่นจึงทำให้การเลือกกองทุนเพื่อลงทุนมีความสำคัญอันดับต้นๆ ไม่ใช่ 'ประโยชน์ทางภาษี’
คุณทราบหรือไม่ว่า... ‘กอง LTF’ ณ วันที่ 31 มี.ค. 19 ย้อนหลัง 10 ปีนั้น กองทุนที่มี ‘ผลงานดีสุด’ ให้ผลตอบแทน 19.74% ต่อปี และ ‘แย่สุด’ อยู่ที่ 8.21% ต่อปี มีผลตอบแทนต่างกันอยู่ 11.53% ต่อปี
“แม้ประโยชน์ทางภาษีที่ได้ไปจะเท่าเทียมกันตามฐานภาษีของแต่ละคน แต่ ‘ผลตอบแทน’ ที่กองทุนทำได้ จะทำให้ความมั่งคั่งในระยะยาวของคุณแตกต่างกันอย่างแท้จริง”
วันหนึ่งเมื่อ ‘กอง LTF’ ไม่มีประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป แต่ต้องไม่ลืมว่า...ยังคงมีผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเป็นแน่แท้ที่ยังคงอยู่ ถ้าคุณตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ กว่า 15 ปีที่รัฐส่งเสริมก็ถือว่าไม่เสียเปล่า คุณก็จะมีทางเลือกในการลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น...
- ถือลงทุนต่อไป แต่มุ่งเอา ‘ผลตอบแทน’ ไม่ใช่ ‘ประโยชน์ทางภาษี’
- ขาย เปลี่ยนมาลงทุน ‘กองหุ้นปกติ’ แทน
- ถ้ายังอยากได้ประโยชน์ทางภาษี ‘กอง RMF’ ก็เป็นอีกทางเลือกได้เช่นกัน
- ถ้าที่ผ่านมาหวังแค่ ‘ประโยชน์ทางภาษี’ เป็นหลัก ก็ควรพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่และอาจตอบโจทย์คุณในเรื่องนี้ได้
“จากความเข้าใจกว่า 15 ปี ที่เชื่อว่ากลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนผ่าน ‘กอง LTF’ จะเห็นประโยชน์จากการลงทุนระยะยาวในหุ้น ส่วนใหญ่จะยังคงลงทุนในหุ้นต่อไปจะรูปแบบไหนเท่านั้นเอง”
‘RMF-หุ้น’…โตแซง ‘RMF-ตราสารหนี้’ สัญญาณความเข้าใจการลงทุนระยะยาวในหุ้น
อย่างที่บอกไว้ว่า... ‘กองหุ้นประหยัดภาษี’ นั้น ไม่ได้มีแต่ ‘กอง LTF’ เท่านั้น ในกลุ่ม ‘กอง RMF’ ก็มี ‘RMF-หุ้น’ และหากเป้าหมายการลงทุนของคุณคือเรื่องของผลตอบแทนในระยะยาว และไม่อยากพลาดประโยชน์ทางภาษีไปด้วย ‘RMF-หุ้น’ ก็น่าจะตอบโจทย์คุณได้เป็นอย่างดี
หากดูผลตอบแทนของ ‘RMF-หุ้น’ (ณ 31 มี.ค. 19) ย้อนหลัง 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 14.30% ต่อปี ส่วน ‘กอง LTF’ อยู่ที่ 13.69% ต่อปี และส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีกว่าในทุกช่วงเวลาด้วย เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ ‘RMF-หุ้น’ เงินไหลเข้าออกสุทธิค่อนข้างนิ่งกว่า ‘กอง LTF’ นั่นเอง ทำให้มีเม็ดเงินไปลงทุนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าไม่ต้องเผื่อสำรองไว้สำหรับการไถ่ถอนประจำปีมากนัก
“ดังนั้น ถ้าคุณมองหาผลตอบแทนระยะยาวที่ดีในหุ้น พร้อมของแถมเป็นประโยชน์ทางภาษี กลุ่ม ‘RMF-หุ้น’ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกให้กับคุณได้เช่นกัน”
เพราะการออมเพื่อเกษียณผ่าน ‘กอง RMF’ เป็นการออมแบบผูกพันในระยะยาวจนถึงเกษียณ ในระหว่างทางตลาดการเงินอาจมี ‘ความผันผวน’ ดังนั้น นโยบายการลงทุนของ ‘กอง RMF’ จึงมีมากมายหลากหลายกว่าตั้งแต่ ‘เสี่ยงต่ำ’ ไปจนถึง ‘เสี่ยงสูง’ เพื่อให้นักลงทุนสามารถ ‘จัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)’ ได้อย่างเหมาะสม สามารถโยกไปมาระหว่างกันได้เพื่อให้การลงทุนของคุณสอดคล้องกับภาวะการลงทุนในขณะนั้นๆ อันจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการลงทุนนั่นเอง
“ณ สิ้นไตรมาสที่1/19 ‘RMF-หุ้น’ มีสินทรัพย์สุทธิ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 48.6% ของ RMF ทั้งหมด แซงหน้า ‘RMF-ตราสารหนี้’ ที่มีสินทรัพย์สุทธิ 7.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 28.6% ของ RMF ทั้งหมด สะท้อนถึงความเข้าใจของนักลงทุนต่อการลงทุนระยะยาวในหุ้นได้เป็นอย่างดี”
อย่าทำให้การสิ้นสุดประโยชน์ทางภาษีของ ‘กอง LTF’ ทำให้ชีวิตการลงทุนของคุณต้อง ‘สะดุด’ ลงไปโดยใช่เหตุ หากเป้าหมายการลงทุนของคุณคือการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีแล้วล่ะก็ เชื่อว่า “กองทุนรวม” ยังเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ให้คุณได้อย่างแน่นอน