“เงินเฟ้อ”...หน่วยพิฆาตทางการเงิน

>> ถ้ายักษ์ม่วง ‘ธานอส (Thanos)’ เป็นตัวร้ายที่สุดในจักรวาล MARVEL ที่โผล่มาทีตายไปครึ่งจักรวาลแล้วล่ะก็ “เงินเฟ้อ (Inflation)” ก็น่าจะเป็นหน่วยพิฆาตทางการเงินที่ทรงอานุภาพการทำลายล้างสูงสุดในโลกเช่นกัน เพราะเป็น ‘ภัยเงียบ’ ที่คอยบั่นทอน ‘อำนาจซื้อ’ ของคนทั่วโลกมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว

ถ้ายักษ์ม่วง ‘ธานอส (Thanos)’ เป็นตัวร้ายที่สุดในจักรวาล MARVEL ที่โผล่มาทีตายไปครึ่งจักรวาลแล้วล่ะก็ “เงินเฟ้อ (Inflation)” ก็น่าจะเป็นหน่วยพิฆาตทางการเงินที่ทรงอานุภาพการทำลายล้างสูงสุดในโลกเช่นกัน เพราะเป็น ‘ภัยเงียบ’ ที่คอยบั่นทอน ‘อำนาจซื้อ’ ของคนทั่วโลกมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว

ล่าสุดก็เล่นเอา ‘เงินโบลิวาร์’ ของ ‘เวเนซุเอลา’ ล่มสลายไปในพริบตาหลังเงินเฟ้อพุ่งทะยานไปสูงถึง 2.69 ล้าน % ในเดือนม.ค.19 ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็หล่นมาเหลือ 2.3 ล้าน % เท่านั้นเอง (คุณฟังไม่ผิดหรอกครับ เงินเฟ้อเป็นระดับล้าน %)

“หนึ่ง ‘เงินเฟ้อ’ ทำลายทั้งประเทศ ไม่ต่างอะไรกับ ‘ธานอส’ หนึ่งเดียวทำลายครึ่งจักรวาล ก็ฝากความหวังไว้กับ ‘กัปตันมาร์เวล(Captain Marvel)’ เท่านั้นเอง ในขณะที่นักลงทุนคงต้องฝากความหวังไว้กับ ‘ตัวเอง’ เท่านั้น ถ้าคุณไม่ขยับผลตอบแทนให้สูงเพียงพอที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ เงินในกระเป๋าคุณก็จะเป็นเหยื่อรายถัดไปอย่างแน่นอนที่สุด”

 

“ส่วนลดทบต้น”...อำนาจทำลายล้างของ ‘เงินเฟ้อ’

หลายคนอาจจะสงสัยว่า... “เงินเฟ้อ” น่ากลัวขนาด ‘ธานอส’ เชียวหรือ? ให้ดูตัวอย่าง ‘เงินโบลิวาร์’ ของ ‘เวเนซุเอลา’ ดูล่ะกัน ที่เจอ ‘หน่วยพิฆาตทางการเงิน’ เล่นงานเอาจนคนเอามาทิ้งเกลื่อนพื้นถนน ไม่มีใครอยากมีไว้ในครอบครอง ขโมยเห็นยังเมิน ไม่ต่างอะไรกับกระดาษธรรมดาๆ ที่ไร้ค่าใบหนึ่งเลยทีเดียว คุณคงไม่อยากให้เงินในกระเป๋าคุณเจอสภาพเช่นเดียวกันนั้นใช่มั้ย?

“เงินเฟ้อ”...น่าจะเป็นหนึ่งใน ‘The Infinity Stone’ ได้เช่นกัน ด้วยคุณสมบัติในการบั่นทอนอำนาจซื้อของเงินชนิดไร้ปรานีไม่มีที่สิ้นสุด

แค่เจออัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 4% ต่อปี (ตั้งแต่ปี1977-2019 เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11% ต่อปี ที่มาwww.tradingeconomics.com) เงิน 100 บาทของคุณหากเก็บไว้ไม่ได้ทำอะไรเลย ‘อำนาจซื้อ’ ของเงินจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

“นั่นหมายความว่าของมูลค่า 100 บาท ที่คุณซื้อได้ในวันนี้ ผ่านไปอีก 17 ปี ด้วยเงินเฟ้อ 4% ต่อปี จะซื้อของชิ้นเดิมไม่ได้แล้ว ต้องใช้เงินมากขึ้นกว่า 100 บาท หรือถ้าใช้เงิน 100 บาท เท่าเดิม ก็จะซื้อของได้น้อยลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น”

ที่นี้ลองย้อนกลับไปที่ ‘เวเนซูเอลา’ กันอีกครั้ง แค่เงินเฟ้อ 100% ตื่นมาพรุ่งนี้ ‘อำนาจซื้อ’ ก็หดหายไปหมดแล้ว วันนี้ของ 100 บาท มีเงิน 100 บาท ซื้อได้ พรุ่งนี้ของขึ้นไปเป็น 200 บาท คุณจะทำไงล่ะ นี่เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 2 ล้าน % จะถือเอาไว้ให้หนักกระเป๋าทำไม เป็นที่มาของภาพข่าวเงินกระจายเกลื่อนถนนตามที่เป็นข่าวร้อนแรงรับต้นปี2019 ที่ผ่านมานั่นเอง

“เงินเฟ้อ...เริ่มน่ากลัวสมกับที่เป็นหน่วยพิฆาตทางการเงินขึ้นมาบ้างหรือยังเอ่ย เงินเฟ้อตัวเดียว...พิฆาตไปทั่วโลก ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องคอยมอนิเตอร์ติดตามเรื่องเงินเฟ้อกันอย่างใกล้ชิดตลอดมา”

 

“ผลตอบแทนที่ดี”...วัคซีนต่อต้าน‘เงินเฟ้อ’

อย่าตั้งต้นอยู่ในความประมาท...ใครที่ติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจอยู่ก็คงจะผ่านหูผ่านตากันไปบ้างกับเรื่องของ ‘เงินเฟ้อ’ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ประกาศเป็นประจำทุกเดือน ล่าสุดไม่ถึง 1% ต่ำเตี้ยติดดินดูไม่น่ากลัวเลยนะแบบนี้ นั่นตัวเลขทางการเท่านั้น คุณลองดูราคาสินค้าบริการที่สัมผัสในชีวิตจริงรอบตัวดูล่ะกันว่าต่ำเตี้ยติดดินจริงหรือเปล่า

“ตามความหมายของ ‘เงินเฟ้อ’ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าพิจารณาจาก ‘ค่าของเงิน’ เงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ตอนนี้แค่ตั๋วหนังยังทะลุ 200 บาท เข้าไปแล้ว จำได้ว่าในอดีตไม่ใช่ราคานี้นะ น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า ถ้าคุณมีเงิน 100 บาท เท่าเดิม ในอดีตอาจดูหนังได้ แต่ตอนนี้ตั๋วหนังก็อาจจะซื้อไม่ได้แล้ว นั่นล่ะ...ผลกระทบจากเงินเฟ้อล่ะ”

อันตรายของ “เงินเฟ้อ” คือกลไกการทำงานแบบ ‘ส่วนลดทบต้น (Compound discounts)’ นั่นเอง ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงกลไกการทำงานของ ‘ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest)’ ที่นักลงทุนทุกคนต่างทรายถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์ ‘ผลตอบแทน’ ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี เป็นเสมือน “แฝดคนละฝา” ก็คงไม่ผิดหนัก ฝ่ายหนึ่ง ‘เพิ่มพูน’ มูลค่าของเงิน ในขณะที่อีกฝ่าย ‘บั่นทอน’ มูลค่าของเงิน แต่ผ่านกลไกการทำงานที่เหมือนกัน 

“มาถึงตรงนี้...คุณคงตระหนักแล้วว่า ทำไมต้องขยับสู่ ‘การลงทุน’ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดี และอย่างน้อยที่สุดควร ‘ดีกว่าเงินเฟ้อ’ ด้วย เพราะจะไม่เพียงแค่รักษา ‘อำนาจซื้อ’ ของเงินคุณเท่านั้น มันยังจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของคุณในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น ‘ผลตอบแทนสุทธิ (=ผลตอบแทน-เงินเฟ้อ)’ จึงน่าจะเป็นเป้าหมายที่ผู้ลงทุนทุกคนควรมองมากกว่า”           

ฝากเงินออมทรัพย์ดอกเบี้ย 0.5% คุณอาจจะได้ความ ‘สบายใจ’ ส่วนตัว แต่เจอ ‘เงินเฟ้อ’ เฉลี่ย 4% แสดงว่า...ความสบายใจของคุณ แลกมาด้วย ‘ส่วนลด’ ของเงิน 3.5% ต่อปี นั่นต่อลมหายใจให้คุณได้อีกประมาณ 3 ปี คือประมาณ 20 ปี มูลค่าเงินคุณถึงจะหายไปเหลือครึ่งเดียว ถึงวันนั้น...คุณยังจะ ‘สบายใจ’ ได้หรือเปล่า คุณต้อง ‘ตอบตัวเอง’ แล้วล่ะ           

การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 4% ต่อปี ‘มีอยู่จริง’ ในโลกใบนี้ ในไทยก็มีเช่นเดียวกัน ถ้าคุณไม่รู้มาก่อน ไม่เป็นไร...ยังมีเวลาสำหรับการเริ่มต้นทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณยังขอ ‘สบายใจ’ ในระยะสั้น ด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5% ต่อไป ก็เป็นสิทธิของคุณแล้วล่ะ และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณควรจะขยับสู่ “การลงทุน” ที่อาจจะทำให้คุณ ‘ไม่สบายใจ’ บ้างก็ได้ในระยะสั้น แต่อาจจะส่งผลที่ดีกว่าในระยะยาวก็ได้