การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของชาติ มีจิ๊กซอว์หลายส่วนที่เข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายด้าน Supply and Value Chain ตั้งแต่ กระบวนการขุดเจาะน้ำมัน กระบวนการกลั่น การขนส่งทั้งทางท่อ ทางรถและทางเรือ
PRM เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเหลวทางเรือ ที่ถือเป็นการให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากนี้ยังมีบริการเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการเรือ (Ship Management)
เรียกว่าเป็นบริษัทมหาชนที่ครบเครื่องเรื่องให้บริการทางเรือขนส่งในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางมากที่สุดในเวลานี้!!!
ที่ผ่านมา ยังมีนักลงทุนเข้าใจสับสนถึงการดำเนินธุรกิจระหว่างเรือขนส่งน้ำมันและเรือขนส่งสินค้า (เรือเทกอง)
ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมมีความยากและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในการดำเนินงาน ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตและค้าน้ำมันรายใหญ่ทั้งสัญชาติไทยและแบรนด์อินเตอร์ฯ คงไม่เสี่ยงที่จะใช้บริการบริษัทเรือขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่มีเซฟตี้ที่ดีพอ
เปิดปูมบันทึกเรือ ก่อนจะมาเป็น PRM
จุดสตาร์ททางธุรกิจเรือขนส่งปิโตรเลียมทางทะเล เริ่มต้นเมื่อปี 2530 หรือกว่า 31 ปีก่อนจากการจัดตั้งบริษัท นทลิน จำกัด เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปแก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.ในปัจจุบันนั่นเอง ก่อนที่จะขยายไปสู่ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลว รวมถึงขยายการให้บริการสู่ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือ ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท นทลิน ออฟชอร์ จำกัด ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพริมา มารีน จำกัด ในปี 2558 พร้อมจัดทัพปรับโครงสร้างการดำเนินงาน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 14 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่
- บริษัท นทลิน จำกัด จำนวน 1,354,999,800 หุ้น คิดเป็น 54.20%
- AUSTIN ASSET LIMITED จำนวน 483,000,000 หุ้น คิดเป็น 19.32%
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว จำนวน 23,766,500 หุ้น คิดเป็น 0.95 หุ้น
- นางจารุณี ชินวงศ์วรกุล จำนวน 18,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.72%
- นายเอี่ยม อาชวกุลเทพ จำนวน 13,910,000 หุ้น คิดเป็น 0.56%
โดย ณ 31 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา มีกองเรือประมาณ 36 ลำ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจเรือขนส่ง แบ่งเป็น เรือขนส่งในประเทศ และเรือขนส่งระหว่างประเทศ
- กลุ่มธุรกิจเรือเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU)
- กลุ่มธุรกิจขนส่งเพื่อให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ OffShore)
- กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการกองเรือ
Strategic Move สู่เบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม
การจะดูว่าแต่ละบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากเพียงใด ต้องวัดจากฝีมือการบริหารงานในยามที่เกิดภาวะวิกฤติที่มาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งในปีที่ผ่านมา PRM ถูกทดสอบอย่างหนักจากภาวะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นและอัตราค่าระวางเรือจาก
ซัพพลายเรือขนส่งปิโตรเลียมในตลาดโลกที่มีจำนวนมาก เป็นแรงกดดันธุรกิจที่ทำรายได้หลักอย่างเรือขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศและเรือ FSU ได้รับผลกระทบและต้องปรับกลยุทธ์มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร
แล้ว PRM ปรับกลยุทธ์อย่างไร?
PRM ได้ใช้แนวทางการปรับเปลี่ยนสัญญาการว่าจ้างกับลูกค้าในกลุ่มเรือขนส่งขนาดใหญ่จาก SPOT เป็น Time Charter หรือที่เรียกง่ายๆว่า… แบบการจ้างเหมา เพื่อรักษามาร์จิ้นจากการให้บริการเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และขายเรือเก่าในกลุ่ม FSU เพื่อเพิ่มอัตราการใช้ที่มีอยู่ 5 ลำให้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงทันที และที่สำคัญยังคงรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น
แต่สิ่งที่เป็น ‘Key Success’ ที่สุดของปีที่ผ่านมา คือ
‘Big Deal’ ใช้เงิน 1,400 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 70% ใน Big Sea ผู้ให้บริการเรือขนส่งน้ำมันเบอร์ 2 ที่นอกจากจะรับรู้รายได้และกำไรทันทีแล้ว ยังช่วยให้ PRM มีกองเรือขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็น 26 ลำ หรือมีความสามารถการให้บริการขนส่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านลิตร แถมยังได้บุคลากรและลูกค้าเดิมของ Big Sea และส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น
เช่น เชฟรอน จะมีส่วนแบ่งการตลาดจากเดิม 15% เพิ่มเป็น 43%, เชลล์ จากเดิม 19% เพิ่มเป็น 64%, ไออาร์พีซี จากเดิม 19% เพิ่มเป็น 52% ปตท. จากเดิม 67% เพิ่มเป็น 69% และลูกค้ารายใหม่ คือ บางจาก คิดเป็นสัดส่วน 37% ของปริมาณน้ำมันที่ขนทางเรือ
นอกจากนี้ ยังซื้อเรือขนส่งขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 3,000 DTW เข้ามาแทนเรือเก่าที่มีขนาด 2,500 DTW ที่เพิ่มความจุปิโตรเลียมต่อเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ที่ช่วยรักษาฐานเรียกว่าได้เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ PRM ได้ทันที
เช็คงบดูสถานะการเงิน
สำหรับปี 2561 หากเทียบกับปี 2560 ต้องยอมรับว่าทำได้ดีกว่าที่คาดว่า แม้ว่าโดยรวมรายได้และกำไรสุทธิจะลดลง หลังจากที่ทำรายได้รวม 4,479 ล้านบาท กำไรสุทธิ 746 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ตกต่ำ แต่การปรับ
กลยุทธ์การดำเนินงานที่มุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
โดยจะพบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดมาจากกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศ จากกองเรือที่เพิ่มขึ้น ส่วนเรือ FSU ก็ยังคงรักษาอัตรากำไรสูงสุดไว้ได้ แม้ค่าบริการจะลดลง โดยปรับลดจำนวนเรือออกไปเหลือ 5 ลำ ส่งผลให้มีอัตราการใช้เรือเพิ่มเป็น 95% เพื่อมุ่งบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ
กฎระเบียบเรือโลกดันการเติบโต
ส่วนภาพรวมปีนี้ เป้าหมายที่ท้าทายของ PRM คือเป้าหมายรายได้รวม 5000-6,000 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 20% ที่มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนแผนงาน จากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่ดีกว่าปีก่อนมาก เพราะ
ซัพพลายเรือขนส่งปิโตรเลียมในตลาดโลกลดลง (ปลดระวางเรือก่อนกำหนด) มีผลให้ค่าบริการระวางเรือกลับมาปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกันคาดว่าจะได้แรงเสริมจากกฎระเบียบขององค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO ที่กำหนดระเบียบเชื้อเพลิงกำมะถัน IMO 2020 โดยปริมาณกำมะถันจากเดิม 3.5% เหลือ 0.5% ทำให้ลูกค้าหันกลับมาใช้บริการเรือ FSU เพิ่มขึ้นไว้กักเก็บน้ำมันกำมะถันต่ำเพื่อเอามาผสมกับน้ำมันที่มีกำมะถันสูง จึงเป็นโอกาสของเรือ FSU ที่จะกลับมาสร้างรายได้โดดเด่นอีกครั้ง
งบลงทุนทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขนาดกองเรือเป็น 42 ลำภายในสิ้นปีนี้
- เรือ FSU เพิ่มอีก 2 ลำ ขนาด 300,000 DTW (VLCC) ซึ่งจะทยอยรับเรือเพื่อเข้ามารับจังหวะที่ลูกค้าต้องการเช่าเรือเก็บน้ำมันกำมะถันต่ำ เพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเตากำมะถันสูงให้เข้ากับกฎระเบียบของ IMO โดยจะเริ่มทำได้รายตั้งแต่
ไตรมาส 2/62 ปีนี้ ทำให้สัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังปีก่อนกลุ่มธุรกิจดังกล่าวทำสัดส่วน 31% ของรายได้ทั้งหมด - เรือขนาดเล็กเพิ่มอีก 6 ลำ เพื่อเพิ่มขนาดกองเรือและบางส่วนจะนำมาทดแทนเรือเก่า รองรับอุตสาหกรรมขนส่งปิโตรเลียมที่เติบโตเฉลี่ย 2-4% โดยจะรับเรือในช่วงครึ่งปีแรกทั้งหมด และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเพิ่มเรือขนาดใหญ่สำหรับขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศ อีก 1 ลำ ขนาด 40,000-50,000 DTW หากค่าระวางเรือยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น
- PRM เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นใน Big Sea อีก 10% เป็น 80%จากเดิมที่ถืออยู่ 70% ที่ทำให้รับรู้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
โดยประเมินว่า ปีนี้กลุ่มธุรกิจเรือเรือขนส่ง (ทั้งในและต่างประเทศ) และกลุ่มธุรกิจเรือ FSU ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ทำสัดส่วนรายได้สูงสุด จะมีความโดดเด่นมากจากปัจจัยบวกข้างต้น ส่วนเรือ FSO แม้กำไรจะไม่หวือหวา แต่มองว่ายังเป็นส่วนที่ทำรายได้ที่มั่นคง หลัง ปตท.สผ.ได้งานหลุมก๊าซเอราวัณ-บงกช ที่จะทำให้กลุ่มธุรกิจบริหารกองเรือดีขึ้นตามไปด้วย
โบรกฯ ฟันธงปีนี้กำไรโดดเด่น
ขณะที่มุมมองจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์มีมุมมองทิศทางเชิงบวกไปในทางเดียวกัน เริ่มจาก บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า กำไรสุทธิในปี 2562 จะเติบโต 41% จากเรือทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการที่ดีขึ้น โดยธุรกิจเรือ FSU ที่เป็นเรือจัดเก็บน้ำมันดิบกลางทะเล จะกลับมา Turnaround อย่างรวดเร็วและมี Upside เติบโตอีกมาก จากมาตรการกฎเกณฑ์ของ IMO ซึ่ง PRM มีแผนเพิ่มเรือในกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมมีอยู่ 5 ลำ เป็น 7-8 ลำในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และจากแผนงานธุรกิจจะทำให้กำไรเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ประกอบกับราคาหุ้นในช่วงนี้ไม่แพง โดยมี Forward PE 18 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 25 เท่า ประเมินราคาเหมาะสมอ้างอิง PE เฉลี่ยภูมิภาค ได้เท่ากับ 8.50 บาท
ด้าน บล.คันทรี่กรุ๊ป ประเมินว่า ธุรกิจของ PRM จะกลับมาเติบโตพร้อมกันในปีนี้ คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2562-2563 จะเติบโตเฉลี่ย 24% โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อการซื้อเรือใหม่เพื่อตอบรับกับอุตสาหกรรมที่มีปัจจัยเป็นบวกจากกฎเกณฑ์ IMO ทำให้ PRM จะจัดซื้อเรือ VLCC ในกลุ่ม FSU 1 ลำ เข้ามาเพิ่มเติมจากเดิมที่มี 6 ลำ และมีแผนหารือกับบอร์ดบริษัทฯ เพื่อซื้อเรือเพิ่มอีก 1 ลำ คาดว่าจะเข้ามาในครึ่งปีหลังปีนี้ ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือ FSU เติบโต 14% ส่วนธุรกิจเรือขนส่งขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ ที่ทำสัดส่วนรายได้ 8% จะพลิกกลับมาทำกำไรให้บริษัทฯ เป็นปีแรก จากค่าระหว่างเรือ Aframax ที่กลับมายืนเหนือจุดคุ้มทุน โดย PRM มีแผนซื้อเรือเพิ่มเติมขนาด 50,000 DTW ในไตรมาส 4/61 ส่วนเรือขนส่งในประเทศ จะช่วยลดความผันผวนของกำไรในแต่ละไตรมาสได้