Return of the… “Gold”

>> เมื่อเหล่าดวงดาวในจักรวาล ถูกปกคลุมไปด้วย ‘ความหวาดกลัว’ ภายใต้การปกครองของ 2 ลอร์ดมืดแห่งซิธ ‘ดาร์ธ ซิเดียส & ดาร์ธ เวเดอร์” กลุ่ม ‘อัศวินเจได (Jedi Knight)’ จึงต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘สร้างสมดุล’ แห่งพลังให้กลับคืนมาอีกครั้งจนเกิดเป็นมหากาพย์แห่ง ‘สงครามอวกาศ (Star Wars)’ ฉันใด

เมื่อเหล่าดวงดาวในจักรวาล ถูกปกคลุมไปด้วย ‘ความหวาดกลัว’ ภายใต้การปกครองของ 2 ลอร์ดมืดแห่งซิธ ‘ดาร์ธ ซิเดียส & ดาร์ธ เวเดอร์” กลุ่ม ‘อัศวินเจได (Jedi Knight)’ จึงต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อ ‘สร้างสมดุล’ แห่งพลังให้กลับคืนมาอีกครั้งจนเกิดเป็นมหากาพย์แห่ง ‘สงครามอวกาศ (Star Wars)’ ฉันใด

เมื่อโลกถูกปกคลุมด้วย ‘ความไม่แน่นอน’ และ ‘ปัจจัยเสี่ยง’ สารพัด หนึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง “ทองคำ (Gold)” ก็จะกลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกฉันนั้น

พลันที่เกิดสัญญาณ ‘Inverted YC’ เกิดขึ้นทำให้ตลาดการเงินโลกกลับมากังวลถึง ‘เศรษฐกิจถดถอย (Recession)’ ที่อาจจะตามมา “ทองคำ” ในมิติของ ‘หลุมหลบภัย (Safe Haven)’ ก็กลับมาอยู่ในเรดาร์การลงทุนอีกครั้ง

“May the Gold be with You…”

 

“ทองคำ”...สินทรัพย์ทางเลือกคู่พอร์ตการลงทุน

จริงๆ แล้ว “ทองคำ (Gold)” ไม่เคยห่างหายไปไหน...เป็นโลหะมีค่าเคียงคู่กับอารยธรรมมนุษย์มาอย่างยาวนานเลยทีเดียว ปัจจุบัน ‘ทอง’ ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์การลงทุน เป็นหนึ่งใน ‘สินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment)’ ซึ่งควรจะมีไว้ในพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าควรมีสัดส่วนกลุ่มนี้เท่าไร แต่โดยปกติเท่าที่เห็นผ่านตาตามตำรับตำราต่างๆ ก็ประมาณ 10 – 15% ไม่เกินนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมเป็น ‘ทอง’ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ความชอบ

หากย้อนมองดู ‘ราคาทอง’ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการปรับตัวขึ้นมาแล้วพอสมควร โดยขาขึ้นรอบล่าสุดนั้นเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนเม.ย.2001 ราคาทองคำปรับขึ้นจาก 258.88 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ขึ้นไปสูงสุด 1,851 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ในช่วงต้นก.ย.2011 หรือปรับตัวขึ้นมา 615.22% ในระยะเวลาทศวรรษเท่านั้น ก่อนจะ ‘จบรอบขาขึ้น’ ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1,055.4 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ช่วงต้นเดือนธ.ค.2015 หรือปรับตัวลงมากว่า 43% ก่อนจะทยอยไต่ระดับมาแบบเงียบๆ ไม่หวือหวาอะไร ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนมากนัก แต่ก็ไม่เคยห่างหายไปไหน ปัจจุบันเคลื่อนไหวในกรอบ 1,250 – 1,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ไม่ไปไหนไกล

“แม้ข่าวสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ ‘ทองคำ’ กลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนส่วนใหญ่อีกครั้ง แต่หากมองย้อนไปในยุครุ่งเรืองสุดของ ‘ทอง’ ในช่วงที่ผ่านมา คำแนะนำการลงทุนไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย คือ มีไว้ติดพอร์ต...เพื่อ ‘กระจายความเสี่ยง’  ไม่ใช่เป็น ‘แก่นของพอร์ต (Core Port)’ แต่ประการใด”

รอบการลงทุนในกลุ่ม ‘สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)’ รวมทั้ง ‘ทอง’ นั้น จะเป็นช่วงปลายเศรษฐกิจขาขึ้น เศรษฐกิจร้อนแรง ‘เงินเฟ้อสูง’ แต่รอบนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจริง แต่ ‘เงินเฟ้อ’ กลับไม่สูง ‘ทอง’ จึงยังไม่ถึงรอบที่นักลงทุนจะพูดถึงมากนัก

“ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ขยายตัวดี ใครๆ ก็ต้องนึกถึงการลงทุนใน ‘หุ้น’ เป็นปกติ แต่นักลงทุนก็ยังคงต้องมี ‘ทอง’ ติดพอร์ตไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงและเป็นเครื่องมือการออมในระยะยาว ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ยังซื้อหาทองคำมาทั้งเพื่อไว้เป็นเครื่องประดับและเป็นเครื่องแสดงถึงความมั่งคั่งควบคู่ไปกับการลงทุนด้วยเช่นกัน

“เรียกว่าเศรษฐกิจดี...ก็ ‘ทอง’ และยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีด้วยแล้ว คนก็จะหันกลับมานึกถึง ‘ทอง’ อีกเช่นกัน และทวีความสำคัญมากขึ้นด้วยในช่วงที่ไม่ดี จะเศรษฐกิจไม่ดี ช่วงสงคราม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ เงินเฟ้อสูง เป็นต้น ‘ทองคำ’ ก็จะกลับมาเจิดจ้าฉายรัศมีข่มสินทรัพย์ประเภทอื่นให้หมองลงไปได้

 

“ธนาคารกลาง”ทั่วโลก...ซื้อสุทธิทอง ปี18 มากสุดในรอบหลายทศวรรษ

ข้อมูลจาก “สภาทองคำโลก (World Gold Council)”ระบุว่า ในปี2018 ‘อุปสงค์ทองคำ (Demand)’ เพิ่มขึ้นเป็น 4,345.1 ตัน จาก 4,159.9 ตันในปี17 เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 4,347.5 ตัน

ในขณะที่ ‘อุปทานของทอง (Supply)’ ในปี18 อยู่ที่ 4,490 ตัน จากปี17 ที่ 4,447.2 ตัน เพิ่มขึ้น 1% ค่อนข้างทรงตัว โดยซัพพลายหลักของทองยังมาจากการผลิตจากเหมืองและทองคำที่หลอมใหม่เป็นสำคัญ       

“จากข้อมูลจะเห็นว่าซัพพลายของทองคำยังมีมากกว่าฝั่งดีมานด์อยู่เล็กน้อย การที่ราคาทองจะปรับขึ้นจากปัจจัยนี้คงยังมีน้ำหนักไม่มากนัก”

อย่างไรก็ตามหากเจาะดู Demand ของทองในปี18 นั้น พบว่ามีจุดที่น่าสนใจ คือ ‘ธนาคารกลางทั่วโลก’ ซื้อสุทธิ 651.5 ตัน จากในปี17ที่ซื้อสุทธิ 374.8 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 74% เป็นปัจจัยผลักดันให้ความต้องการในทองคำในปี18 ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี1971 อีกด้วย โดยรัสเซีย ตุรกี และคาซัคสถานเป็นผู้ซื้อหลักในปีนี้ ทั้งนี้ 1 ใน 5 ของธนาคารกลางทั่วโลกยังส่งสัญญาณว่ามีความสนใจที่จะซื้อทองเพิ่มในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอีกด้วย


“ขณะที่ ‘การลงทุนในทองคำ (Investment)’ ในปี18 นั้นลดลงเหลือ 1,159.1 ตัน จาก 1,251.6 ในปี17 หรือลดลง 7% โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่ม ‘กองอีทีเอฟทองคำ’ ในปี18 เพียง 68.9 ตัน จากปี17 ที่ไหลเข้าสุทธิ 206.4 ตัน ลดลงกว่า 67% อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่4/18 ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงก็มีเงินซื้อกลับเข้ามาในกลุ่มกองอีทีเอฟทองคำเพิ่มขึ้นเช่นกัน”

 

ผ่อนคลายนโยบายการเงิน...ปัจจัยหนุน ราคาทอง

ข้อมูลจาก “สภาทองคำโลก (World Gold Council)” ยังระบุอีกว่า ปกติปัจจัยที่ขับเคลื่อนผลตอบแทนของ ทองคำ หลักๆ จะมาจาก ค่าเงินดอลลาร์’,‘ดอกเบี้ย และอื่นๆ ระหว่างปี18 ผลตอบแทนของทองส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากทิศทางของ ค่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ย ก็เชื่อมโยงตลาดสู่ความไม่แน่นอนเช่นกัน ล่าสุดผลประชุมของ ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ ก็ยืนยันตลาดว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไว้ในปีนี้ ถือเป็น จุดเปลี่ยน ที่มีอิทธิผลต่อผลตอบแทนของ ทอง

จากข้อมูลในอดีตแสดงว่าหลังจากที่ FED เปลี่ยนนโยบายการเงินจากเข้มงวด (ดอกเบี้ยสูง) มาสู่เป็นกลาง (คงดอกเบี้ย) ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นแม้ว่าผลกระทบนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใดเสมอไปก็ตาม แม้จะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าจะเกิดผลบวกต่อราคาทองคำอย่างทันทีทันใดหลังจาก FED หยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่จากสถิติในอดีตนักวิเคราะห์แนะนำว่าในท้ายที่สุดราคาทองจะมีปฏิกิริยาในเชิงบวกหลังจาก FED หยุดการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

“สถิติในอดีตหลังจากการหยุดใช้นโยบายการเงินเข้มงวดแล้ว ในท้ายที่สุด ทองคำ จะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า สินทรัพย์เสี่ยง อื่นๆ เช่น หุ้นหรือสินค้าโภคภัณฑ์ ในมุมมองของเราการเปลี่ยนมุมมองดอกเบี้ย การชะลอตัวของค่าเงินดอลลาร์ และความเสี่ยงที่ยังมีต่อเนื่องในตลาดการเงินโลก ยังจะเป็นแรงดึงดูดให้ ทอง ยังคงน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน ดังนั้น การเปลี่ยนมุมมองดอกเบี้ยจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อราคาทองคำในอนาคต

 

ไร้สัญญาณ ‘วิกฤติ’ ในช่วง 1 – 2 ปี นี้

“นาวิน อินทรสมบัติ” Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย จำกัด ย้ำว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณ ‘วิกฤติ’ หรือจะเกิด ‘เศรษฐกิจถดถอย (Recession)’ ขึ้นแต่ประการใด การที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 3 เดือน สูงกว่า 10 ปี ยังไม่ได้บอกถึง ‘Inverted Yield Curve’ ทั้งหมด เพราะพันธบัตร 2 ปี ยังต่ำกว่า 10 ปี อยู่ เป็นเพียงการเกิด Inverted YC ในบางช่วงอายุเท่านั้น แน่นอนว่า...เศรษฐกิจโลกในปี2019 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจจะชะลอตัวลงแรงด้วยแต่ในภาพรวมถือว่ายังมีการเติบโต

บริษัทประเมินว่าจะยังไม่เห็น ‘วิกฤติ’ เกิดขึ้นในช่วง 1 – 2 ปี นี้ อยากให้เข้าใจภาพตรงนี้ให้ตรงกันก่อน และถึงจะมี ‘วิกฤติ’ เกิดขึ้นจริงตามสัญญาณ Inverted YC ก็ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือนหลังเกิดสัญญาณขึ้น แต่นั่นก็แค่ทำให้ ‘ทอง’ น่าสนใจเพิ่มขึ้น อาจจะเพิ่มน้ำหนักในการ ‘กระจายความเสี่ยง’ ขึ้นได้บ้าง

“ทองคำ” เรายังมีมุมมองเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ แนะนำให้มีไว้ในพอร์ตในแง่ของการกระจายความเสี่ยงประมาณ 5% โดยหุ้นยังคงน่าสนใจกว่าตราสารหนี้เพียงแต่จะต้องเลือกหุ้นหรือภูมิภาคที่ไปลงทุนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเอง”


 
( นาวิน อินทรสมบัติ )
 

 “อัพไซด์ของทองก็มีไม่มาก ปีนี้ยังน่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1,250 – 1,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หากไม่มีปัจจัยอะไรใหม่มากระทบอย่างมีนัยสำคัญ คงทำให้ทองคำผ่านแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ขึ้นไปได้ยาก ‘เงินเฟ้อ’ ก็ต่ำ แต่ถ้าสหรัฐกับจีนเจรจากันจบลงด้วยดี เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อ เงินเฟ้อมา ตรงนั้นอาจจะถึงรอบของทองก็ได้

แต่อย่าลืมว่า... ‘ทองคำ’ ใช้เป็นสินทรัพย์ในการกระจายความเสี่ยงเป็นสำคัญ การที่ช่วงนี้นักลงทุนหันมาสนใจ ‘ทองคำ’ เพิ่มขึ้น อาจเพราะความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระบบการเงินโลกด้วยส่วนหนึ่ง ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีการโยกย้ายเงินลงทุนบางส่วน (ย้ำว่าบางส่วน) เข้ามาลงทุนในทองคำเป็นลักษณะของทางเลือกการลงทุนในช่วงนี้มากกว่า”

เมื่อตลาดการเงินโลกไม่เคยปราศจากซึ่ง ‘ปัจจัยเสี่ยง’ และ ‘ความไม่แน่นอน’ เพียงแต่อาจจะ ‘แตกต่าง’ กันไปบ้างในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้นเอง การมี “ทองคำ” ติดพอร์ตไว้ ไม่เพียงจะช่วยในเรื่อง ‘กระจายความเสี่ยง’ เท่านั้น ยังช่วยให้พอร์ตการลงทุนของคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นในภาพรวมด้วยเช่นกัน ‘ความไม่แน่นอน’ ของโลกในครั้งนี้ จึงเป็นจังหวะของการกลับมาของ “ทองคำ” อีกครั้งในแผนที่การลงทุนโลกนั่นเอง