ช่วงที่ผ่านมา “ยุโรป” ดูจะเป็นตลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบน้อยที่สุดในกลุ่มของ ‘ตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market)’ เมื่อเทียบกับ ‘สหรัฐ’ หรือ ‘ญี่ปุ่น’ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองในกลุ่มเอง จนปัจจุบันก็ยังต้องตามดูอย่างกรณี Brexit เป็นต้น แนวโน้มเศรษฐกิจก็ชะลอตัวเช่นเดียวกันกับประเทศพัฒนาอื่นๆ
แม้ภาพที่ดูขมุกขมัวในช่วง 3 เดือนแรกของปี19 ที่อาจดูไม่สดใสสำหรับเศรษฐกิจยุโรป แต่กลุ่ม “กองหุ้นยุโรป” ช่วง 3 เดือนแรก (ณ 31 มี.ค. 19) สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 12.61% เลยทีเดียว
‘หุ้นยุโรป’ ถือเป็นอีกภูมิภาคที่นักลงทุนไทยคุ้นเคย จาก 10 ปีก่อนที่ทมีเพียง 2 กองทุน มาช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ มีบลจ.นำเสนอ ‘กองหุ้นยุโรป’ ออกมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีถึง 31 กอง มีสินทรัพย์สุทธิรวมกันกว่า 16,749.41 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อกอง 540.30 ล้านบาท ถือว่ามีขนาดต่อกองไม่ใหญ่มากนัก
“โดยช่วง 3 เดือนแรกสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 12.61% มีเพียง 1 กอง คิดเป็น 3.23% ของทั้งหมดเท่านั้น ที่มีผลงาน ‘แพ้’ ค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ที่เหลืออีก 30 กอง คิดเป็น 96.77% ชนะค่าเฉลี่ยกลุ่ม โดยกองที่มีผลงานดีสุดทำได้ 20.19% ในขณะที่กองที่มีผลงานแย่สุดอยู่ที่ 7.73% หรือต่างกันอยู่ 12.47% เลยทีเดียว"
แต่การลงทุนในหุ้นจะมองเพียงผลตอบแทน ‘ระยะสั้น’ คงไม่ได้ ต้องมองกันยาวๆ กัน โดยผลงานกลุ่ม ‘กองหุ้นยุโรป’
- ย้อนหลัง 1 ปี เฉลี่ย 0.10%
- ย้อนหลัง 3 ปี เฉลี่ย 4.64% ต่อปี
- ย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ย 2.90% ต่อปี
- ย้อนหลัง 10 ปี เฉลี่ย 6.43% ต่อปี
ผลตอบแทนระยะยาวของกลุ่มหุ้นยุโรปถือว่าไม่โดดเด่นอะไร เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาอื่น โดยหุ้นในยุโรปเองถ้าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ก็จะมีลักษณะเป็น ‘บริษัทข้ามชาติ’ ที่มีรายได้มาจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในยุโรปเพียงอย่างเดียว ภาพของเศรษฐกิจกับบริษัทจึงอาจจะไม่ได้ไปทางเดียวกันสักเท่าไรนั่นเอง
“หุ้นยุโรป นับเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ผลตอบแทนในระยะยาวที่จะทำได้ก็คงไม่ได้หวือหวาเช่นใน ‘ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)’ แต่ก็จะมี ‘ความผันผวน’ ที่ต่ำกว่าด้วยเช่นกัน”
ในยุคหลังที่มีบลจ.นำเสนอกลุ่ม ‘กองหุ้นยุโรป’ ออกมามากขึ้น ก็จะจัดเป็นกลุ่มๆ ได้ ดังนี้
- กองหุ้นทั่วไป
- กองหุ้นดัชนี
- กองหุ้นเน้นคุณค่า (Value)
- กองหุ้นเติบโต (Growth)
- กองหุ้นขนาดกลาง-เล็ก
- กองหุ้นเยอรมัน เป็นประเทศเดียวที่มีการตั้งกองทุนไปลงทุน
หากมองการลงทุนในภาพรวม แล้วคุณอยากจะมีการกระจายการลงทุนบางส่วนไปใน ‘หุ้นยุโรป’ ย่อมสามารถทำได้เช่นกัน ส่วนเรื่องน้ำหนักและสไตล์กองหุ้นที่จะไปลงทุนนั้น คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เลือกที่เหมาะกับความสามารถในการรับความเสี่ยงและเป้าหมายทางการเงินของตัวเองก็เพียงพอครับ