ส่องหุ้นอสังหาฯ ลุ้นรัฐอัดยากระตุ้นรอบใหม่

>>

แทบทุกครั้งที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “อสังหาริมทรัพย์” มักเป็นหนึ่งในเซกเตอร์ที่มีชื่อติดโผ เพราะการกระตุ้นอสังหาฯ จะส่งแรงกระเพื่อมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายเด้ง เช่น วัสดุก่อสร้าง สินเชื่อ การจ้างงาน ฯลฯ


ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังรัฐบาลเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วและปัจจัยสงครามการค้าที่กดดันเศรษฐกิจทั่วโลก จึงเตรียมให้ยากระตุ้นรอบใหม่ก่อนปัญหาจะลุกลามจนแก้ยาก โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ในข่ายได้รับมาตรการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้เช่นกัน!!!


ทันทีที่รัฐบาลส่งสัญญาณเรื่องนี้ออกมา ราคาหุ้นอสังหาฯ ส่วนใหญ่ก็ดีดตัวขานรับ ประกอบการคลี่คลายความกังวลปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเศรษฐีจีนไม่น้อยที่เข้ามาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งๆ ที่ในช่วงก่อนหน้านี้ธุรกิจอสังหาฯ เพิ่งเจอพิษมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือ “แอลทีวี” ที่ดีเดย์บังคับใช้ 1 เมษายนที่ผ่านมาเพื่อสกัดเก็งกำไร กดดันหุ้นอสังหาฯ แทบทั้งกระดาน ทำราคานิวโลว์ในรอบหลายเดือน จนหุ้นบางตัวมีค่า PE ลดเหลือต่ำกว่า 4-7 เท่า  



LH ตั้งเป้ารับรู้รายได้ 3.7 หมื่นล้าน


ในบรรดาหุ้นอสังหาฯ “LH” หรือ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ นับเป็นหุ้นที่มี “กำไรสุทธิ” สูงสุดในปีที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินงานปี 2561 มีรายได้รวม 39,851.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,475.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 26.29% พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลปี 2561 ที่ 0.75 บาทต่อหุ้น


ว่ากันว่าจุดแข็งของพี่ใหญ่อย่าง LH ที่สามารถทำกำไรสุทธิโดดเด่นแซงหน้าคู่แข่ง เพราะมีการวางโครงสร้างรายได้ที่ดี โดยหลักๆ มีพอร์ตรายได้แบ่งเป็น 1.รายได้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นพัฒนาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ 2.รายได้ค่าเช่าและบริการ ซึ่งมาจากธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้า และ 3.ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทต่างๆ ได้แก่ HMPRO, LHFG, QH, Q-CON และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง 2 ซึ่งเฉพาะส่วนนี้ทำกำไรให้แก่ LH ในปีที่ผ่านมารวมกันถึง 3,404 ล้านบาท นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของแบรนด์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และกลยุทธ์บ้านสร้างเสร็จก่อนขาย ทำให้โครงการจัดสรรของ LH สามารถตั้งราคาเหนือคู่แข่งในทำเลเดียวกัน

ขณะที่แผนงานปีนี้ LH ตั้งเป้ายอดขาย 33,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 37,000 ล้านบาท โดยจะเปิดโครงการใหม่ 16 โครงการ  รวมมูลค่า 29,960 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด


ด้าน บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาพื้นฐาน 11.60 บาท โดยประเมินภาพรวมยอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้จะลดลง 7% จาก 3.05 หมื่นล้านบาท เป็น 2.85 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่ารายได้ค่าเช่าจะเติบโตถึง 34% จากการรับรู้รายได้ค่าเช่าศูนย์การค้าเทอร์มินอล พัทยาเต็มปี ส่งผลให้มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีถึง 6.6% ส่วน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้คำแนะซื้อ พร้อมให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนที่ 11.40 บาท โดยประเมินยอดรับรู้รายได้ปีนี้ 37,013 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 9,679 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกำไรพิเศษที่อาจเกิดขึ้นจากการขายโครงการแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ทองหล่อ ให้แก่กองทรัสต์

 


QH กำไรพุ่งแรง


ส่วนค่าย QH ที่เพิ่งได้แม่ทัพคนใหม่ที่ข้ามห้วยมาจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ “เฉลิม เกียรติธนะบำรุง” นั่งเป็นซีอีโอต่อจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ในปี 2561 มีรายได้รวม 16,341.4 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ 18,102 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น  3,800.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเกือบ 21% ปัจจัยมากค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลง


ขณะที่แผนงานปี 2562 QH ตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ 15,300 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากโครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ราคาเฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป และเริ่มชะลอเปิดคอนโดฯ ใหม่  หลังตลาดแข่งขันรุนแรงจากซัพพลายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและการออกมาตรการแอลทีวีสกัดเก็งกำไร


มุมมองจากบทวิเคราะห์ บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำถือ พร้อมให้ราคาเป้าหมายปี 62 ที่ 3 บาท โดยประเมินยอดพรีเซลไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของเป้าพรีเซลทั้งปี 1.36 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำถือ พร้อมให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนที่ 3.50 บาท โดยประเมินยอดพรีเซลและยอดรับรู้รายได้ไตรมาส 1/62 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากไม่มีโครงการใหม่


 

ORI ตั้งเป้ารับรู้รายได้นิวไฮ


ส่วน ORI หรือ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ภายใต้การบริหารของ “เสี่ยโด่ง-พีระพงศ์ จรูญเอก” ที่เติบโตแบบเขย่งก้าวกระโดด จากปี 2558 มีรายได้รวม 2,055 ล้านบาท กำไรสุทธิ 386.3 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 16,637.8 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,337.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า ปัจจัยหลักมาจากการการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ


ส่วนปี 2562 ORI ต้องการทำผลการดำเนินงานนิวไฮ ด้วยเป้าหมายยอดขาย 28,000 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 19,000 ล้านบาท โดยวางแผนเปิด 15 โครงการใหม่ รวมมูลค่าโครงการ 26,000  ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 20,000 ล้านบาท และแนวราบ 6,000  ล้านบาท โดยปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนเปิดโครงการแนวราบเป็น 23% จากปีก่อน 11%

(โครงการใหม่ บริทาเนีย บางนา กม.12)

ขอบคุณรูปภาพจาก www.parkorigin.co.th


ขณะที่บทวิเคราะห์จาก บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาเป้าหมายปีนี้ 10.10 บาท โดยคาดแนวโน้มการเติบโตปี 2562 จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีแบ็กล็อกรอโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ บล.เอเอสแอล ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาเหมาะสม 9.30 บาท โดยมองว่าบริษัทฯ จะใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนโครงการแนวราบเพิ่มขึ้น และมีแบ็กล็อกคิดเป็น 70% ของเป้าหมายรับรู้รายได้ในปีนี้ซึ่งไม่ถูกกระทบจากมาตรการแอลทีวี



SPALI เตรียมเปิด 34 โครงการ


ส่วนค่ายศุภาลัยหรือ SPALI ที่มีจุดแข็งด้านควบคุมต้นทุน วัดจากประสิทธิภาพรักษาอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 20% มาอย่างต่อเนื่องหลายปี และปรับพอร์ตการลงทุนระหว่างโครงการแนวราบ-แนวสูงได้เร็ว โดยมีการกระจายพอร์ตโครงการในต่างจังหวัดรวมถึงร่วมทุนพัฒนาอสังหาฯ ในประเทศออสเตรเลีย ในปี 2562 ตั้งเป้าหมายยอดขาย 35,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 5% จากปีก่อนทำได้กว่า 33,300 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ 28,000 ล้านบาท เติบโต 8.5% โดยมีคอนโดฯ ที่จะสร้างเสร็จทยอยโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้  4 โครงการ มูลค่า 8,000 ล้านบาท เป็นแบ็กล็อกตุนไว้ในมือ


ขณะที่แผนพัฒนาโครงการใหม่ ปีนี้ SPALI ประกาศบุกหนักเตรียมเปิด 34 โครงการใหม่ รวมมูลค่าโครงการ 40,000 ล้านบาท แยกเป็นแนวราบ 28 โครงการ และคอนโดฯ 6 โครงการ ไฮไลท์คือบิ๊กโปรเจกต์ “ศุภาลัย ไอคอน สาทร” โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนที่ดินสถานฑูตออสเตรเลียเดิม


ด้านบทวิเคราะห์จาก บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาเป้าหมายปีนี้ที่ 22.50 บาท โดยคาดมีกำไร 5,900 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณกำไรอีก 5-7% จากการปรับลดค่าใช้จ่ายได้ดี ส่วน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาเป้าหมายช่วง 12 เดือน ที่ 22.10 บาท โดยประเมินยอดรับรู้รายได้ปีนี้ 28,270 ล้านบาท (มีแบ็กล็อกแล้ว 47%) และกำไรสุทธิ 6,198 ล้านบาท

 

AP ยึดทำเลแนวรถไฟฟ้า


สุดท้ายค่าย AP หรือ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) อีกหนึ่งบิ๊กเพลเยอร์วงการอสังหาฯ หลังทำยอดขายและยอดรับรู้รายได้ (รวม JV 100%) ปีที่ผ่านมาเป็นสถิติใหม่ ปี 2562 ตั้งเป้ายอดขาย 41,800 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 41,298 ล้านบาท และเป้ารับรู้รายได้ (รวม JV 100%) 35,900 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ที่มียอดรับรู้รายได้ (รวม JV 100%) 38,020 ล้านบาท


ส่วนแผนลงทุนในปีนี้ AP จะเปิดโครงการใหม่ 39 โครงการ รวมมูลค่าโครงการ 56,800 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 34 โครงการ  รวมมูลค่า 34,400 ล้านบาท และคอนโดฯ 5 โครงการ รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท เน้นทำเลแนวรถไฟฟ้า เช่น สุขุมวิท-อ่อนนุช, อโศก-รัชดา, เอกมัย


ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ให้คำแนะนำซื้อ พร้อมให้ราคาเป้าหมาย 8 บาท โดยมีแผนเปิดคอนโดฯ The Address สยาม-ราชเทวี เป็นโครงการหลักในไตรมาส 2/62 ส่วน บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำถือ ให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนที่ 8 บาท โดยมีแบ็กล็อกรอโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้ 10,245 ล้านบาท และคาดไตรมาส 4/62 จะมีผลการดำเนินงานดีที่สุดในรอบปี