“เกษียณ” ไม่สะดุด...ถ้า‘เตรียมเงิน’ ไว้ให้พร้อม

>>

วันนี้เราทำงานหาเงินเอามาใช้จ่าย แล้วในวันที่คุณ “เกษียณ” ไม่มี รายได้ จากการทำงานแล้ว คุณจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย? เพราะ รายจ่าย ไม่ได้หมดไปตอนคุณเกษียณ


จะ ช้า หรือ เร็ว ทุกคนก็ต้องเกษียณ จะช้าหรือเร็วคุณก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ อย่ารอไปคิดเอาในวันเกษียณ หรือวันใกล้เกษียณเลย


วันนี้ที่คุณยังมีแรงทำงาน จะดียิ่งขึ้นถ้ามีเวลาเหลือในการทำงานมากเพียงพอด้วย หยุดคิดสักนิด...วันที่คุณเกษียณ จะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่ายต่อไปสำหรับ 'ชีวิตหลังเกษียณ'????

ลงทุนเพื่อ...”ชีวิตหลังเกษียณ”


นอกจากเรื่องของ “เงินเฟ้อ” แล้ว การที่มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะมี “อายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราควรจะหันมาสนใจในเรื่องของ ‘การลงทุน’ มากขึ้น เพราะการที่เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้นก็จะทำให้เรามีชีวิตหลังเกษียณที่ยาวขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะติดตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว


จากข้อมูลของ United Nation” พบว่าประชากรโลกจะมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น โดยในปี1950 ประชากรโลกมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 47 ปี ในปี 2005 เพิ่มขึ้นเป็น 65 ปี และคาดว่าในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี หรือในรอบ 100 ปีที่ผ่านมานั้น ประชากรโลกจะมีอายุขัยยืนยาวขึ้นถึง 28 ปี และส่งผลให้สัดส่วนผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในโลก จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านคน คิดเป็น 21% หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลก


ข้อมูลดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อมูลในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ประมาณการว่าในปี2020-2025 อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยจะสูงขึ้นอีก โดยชายไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี และหญิงไทยจะมีอายุเฉลี่ยถึง 80 ปี นั่นหมายความประชากรชาวไทยจะมีช่วงอายุหลังเกษียณที่ยาวนานขึ้น 15 ปี ถ้าคุณเป็นผู้ชาย และ 20 ปี ถ้าคุณเป็นผู้หญิง นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่จะมีแต่ค่าใช้จ่ายในขณะที่รายรับจากการทำงานหมดไปแล้ว
“การ ‘เกษียณ’ คือการหยุดการทำงาน แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป ในขณะที่ ‘รายได้’ หยุดนิ่งแต่ ‘ค่าใช้จ่าย’ ยังคงมีอยู่ แล้วคุณจะมีชีวิตต่อไปโดยไม่มีรายได้ไปอีกอย่างน้อย 20 ปี หรือถ้าโชคดี (หรือโชคร้าย)มีอายุถึง 100 ปีจริงๆ คุณจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณถึง 40 ปี คุณจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไงถ้าคุณไม่มีรายได้ที่เพียงพอ แล้ววันนี้คุณมีเงินพร้อมสำหรับชีวิตหลังเกษียณแล้วหรือยัง?”

 

เริ่มต้นลงทุน... ‘ยิ่งเร็ว-ยิ่งดี’ สำคัญต้องลงทุนให้... ‘ถูกที่-ถูกทาง’ ด้วย


จากงานศึกษาวิจัยของ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” เพื่อที่จะพยายามตอบคำถามในการออมระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณว่าผู้ออมเงินควรจะออมเงินเท่าไรถึงจะพอ ต้องวางแผนการออมอย่างไรจึงจะสามารถสะสมเงินออมตลอดช่วงวัยทำงานเพื่อให้ “เพียงพอ” ต่อการเลี้ยงชีพสำหรับชีวิตหลังเกษียณอายุ


โดยบทศึกษานี้สมมติว่าผู้ออมสามารถเลือกนโยบายลงทุนสำหรับเงินออมส่วนใหญ่ที่ออม และแบ่งนโยบายลงทุนออกเป็น 3 กรณี คือ นโยบายการลงทุนใน ตราสารตลาดเงิน , ตราสารหนี้ และ หุ้น


เพื่อบรรลุ อัตราทดแทนรายได้ (Replacement Rate)” ซึ่งหมายถึงสัดส่วนเงินได้เลี้ยงชีพที่ผู้ออมจะได้รับในวัยหลังเกษียณอายุเทียบต่อรายได้เฉลี่ยในช่วงก่อนเกษียณอายุที่ เพียงพอ ต่อการเลี้ยงชีพสำหรับคนไทยทั่วไปอยู่ที่ระดับ  50%


จากการประมาณการอัตราทดแทนรายได้ตามกรณีการออมต่างๆ พบว่า ผู้ออมระยะเวลา 10 ปี (เริ่มต้นคิดเก็บเงินตอนอายุ 50 ปี) ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายอัตราทดแทนรายได้ที่ 50% ได้ในทุกกรณีการออมที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์

ผู้ออมระยะเวลา 20 ปี (เริ่มต้นคิดเก็บเงินตอนอายุ 40 ปี) มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายอัตราทดแทนรายได้ที่ 50% ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดระหว่างการเลือก “นโยบายการลงทุน” และ “อัตราออม”


“ถ้าผู้ออมต้องการออมในอัตรา 21% ผู้ออมต้องเลือกนโยบายลงทุนใน ‘หุ้น’ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าผู้ออมเลือกนโยบายลงทุน ‘ตราสารหนี้’ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ผู้ออมต้องออมในอัตราที่สูงมากถึง 45%”


สำหรับผู้ออมที่มีระยะเวลาออม 30 ปี (เริ่มต้นคิดเก็บเงินตอนอายุ 30 ปี) มีโอกาสที่จะบรรลุอัตราทดแทนรายได้ที่ 50% ได้มากที่สุด เพราะผู้ออมมีความยืดหยุ่นในการเลือก “อัตราออม” หรือ “นโยบายการลงทุน” ที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองได้ดีกว่า เพราะมีระยะเวลาการลงทุนที่มากกว่า


“ในกรณีนี้ถ้าที่ผู้ออมเลือกนโยบายลงทุนใน ‘หุ้น’ อัตราออมที่ต้องออมจะอยู่ในระดับต่ำมากที่ 9%  และในกรณีที่ผู้ออมเลือกนโยบายลงทุน ‘ตราสารหนี้’ อัตราออมที่ต้องออมยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากที่ 27% เท่านั้น เรียกว่า...ยิ่งเริ่มต้นลงทุนเร็ว ยิ่งดี แต่ก็ต้องเลือกลงทุนให้ถูกที่ถูกทางด้วยเช่นกัน เงินถึงจะงอกงามเติบโตได้ตามที่ตั้งใจไว้”


ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการทดแทนรายได้ที่ 50% นั้นขึ้นอยู่กับอัตราการออมและเครื่องมือทางการลงทุนที่ผู้ออมเงินเลือกใช้เป็นสำคัญ ถ้าผู้ออมต้องการเลือกลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่มี ‘ความเสี่ยงต่ำ’ แต่ให้ ‘ผลตอบแทนต่ำ’ ผู้ออมเงินก็ต้องชดเชยด้วยอัตราการออมที่ ‘สูงขึ้น’ ในทางตรงข้ามถ้าผู้ออมเงินเลือกเครื่องมือทางการเงินที่มี ‘ความเสี่ยงสูง’ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ ‘ผลตอบแทนที่สูง’ ขึ้น ผู้ออมเงินก็จะสามารถออมด้วยอัตราการออมที่ ‘ต่ำลง’ ได้เช่นกัน

 

คนไทยส่วนใหญ่...ยังไม่พร้อม “เกษียณ”


แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากการสำรวจกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมสำหรับ ‘ชีวิตหลังเกษียณ’ โดยแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุของไทยนั้นมาจาก ‘บุตร’ และ ‘การทำงาน’ เป็นสำคัญ แนวโน้มคนไทยมีลูกน้อยลง ต่อไปคนแก่จะมากกว่าคนทำงาน ลองหลับตาจิตนาการตามดูว่ามีแต่คนแก่มากกว่าคนทำงานจะมีสภาพเป็นเช่นไร ลำพังแค่ให้ลูกหลานดูแลตัวเองได้ก็ถือเป็นวาสนาแล้ว และนั่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมรายได้ส่วนใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของผู้สูงอายุไทยมาจาก ‘การทำงาน’ เพราะท้ายที่สุดก็ยัง ‘เกษียณ’ ไม่ได้จริงๆ นั่นเอง


ถ้าปัจจุบันคุณใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ตกปีละ 240,000 บาท แล้วคุณปรารถนาจะใช้จ่ายหลังเกษียณด้วยตัวเลขระดับเดียวกันนี้ไปอีกประมาณ 20 ปี (ยังไม่คิดถึงอัตราเงินเฟ้อ) นั่นหมายความว่าคุณจะต้องมีเงินพร้อมในวันที่เกษียณประมาณ 4.8 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้คุณมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท ไปอีก 20 ปี พอครบปีที่ 20 เงิน 4.8 ล้านบาท นี้ก็จะหมดลงพอดี


“นี่เรายังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้ามา เช่น ค่ารักษาพยาบาลซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่สำหรับผู้ที่สูงอายุอีกด้วย และยังไม่ได้คิดถึงอัตราเงินเฟ้อที่จะกัดกร่อนอำนาจซื้อของเงินในกระเป๋าคุณเข้าไปนะ”


จากการศึกษาของ “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ถึงมูลค่าของเงิน 1 บาท ที่ออมทุกปี ด้วยผลตอบแทนต่างๆ ระยะเวลา 30 ปี จะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ปีละกี่บาทหลังเกษียณ ก็จะพบว่า หากคุณเก็บเงินปีละ 1 บาท ที่ผลตอบแทน 0% เป็นเวลา 30 ปี ก็จะสามารถใช้จ่ายปีละ 1 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี หลังเกษียณ คล้ายกับตัวอย่างที่เรากล่าวถึงตอนต้นนี้ เรียกว่า ‘เก็บ’ เท่ากับ ‘ใช้’ นั่นเอง แต่ถ้าจะอยู่นานกว่านี้คุณก็ต้องลดค่าใช้จ่ายลงเหลือปีละ ‘ไม่เต็มบาท’ ล่ะนะ ถึงจะพอใช้
“แต่ถ้าคุณออมเงิน 1 บาททุกปีด้วย ผลตอบแทนไม่ต้องมากมาย 5% ต่อปี (มีโอกาสทำได้จริงด้วย) ไป 30 ปี คุณจะมีเงินใช้ปีละ 4.322 บาท ไปอีก 30 ปี สบายๆ หรือถ้าคุณโชคดีอายุยืนไปหลังเกษียณอีก 40 ปี ก็ยังมีให้ใช้ได้ปีละ 3.872 บาท ถือว่าโอเคเลยใช่มั้ยล่ะ


“แต่ถ้าคุณออมเงิน 1 บาทต่อปี ที่อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นเป็น 10% ต่อปี (ไม่ง่ายแต่ไม่ยากเกินไปที่จะทำได้) ตอนเกษียณคุณจะมีเงินใช้ปีละ 17.449 บาท ไปอีก 30 ปี และหากโชคดีอายุยืนกว่านั้นอยู่หลังเกษียณถึง 40 ปี คุณจะมีเงินใช้ปีละ 16.821 บาท เรียกว่า...เกษียณสุขสุดๆ เลยทีเดียว ไม่ต้องพึ่งพาบุตร ไม่ต้องมาทำงานตอนแก่หลังเกษียณ แค่ช่วงที่คุณทำงานแบ่งเงินมาทำงานควบคู่กันไปด้วยเท่านั้นเอง”


เงินหลังเกษียณของแต่ละปัจกเจกบุคคลแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแต่ประการใด เท่าไรสำหรับคุณที่เพียงพอ? คุณเท่านั้นที่ต้องคิดแล้วตอบตัวเองให้ได้ ไกด์ให้ง่ายๆ อยากมี ‘ชีวิตหลังเกษียณ’ อีกกี่ปี อยากใช้เดือนละเท่าไรหลังเกษียณ? ก็จะรู้แล้วว่า...คุณต้องใช้ปีละเท่าไร แล้วตอนเกษียณต้องมีเงินเท่าไร เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณของคุณ ‘ไม่สะดุด’นั่นเอง แล้ววันนี้คุณเตรียมเงินไว้สำหรับชีวิตหลังเกษียณแล้วหรือยัง????