“Infinity Funds” ...พลังควบคุมจักรวาล ‘ผลตอบแทน’ (2)

>>

Reality Stone...กลุ่ม “กองทุนผสม”


มาถึง Infinity Fundsอัญมณีเม็ดที่2 นั่นก็คือ Reality Stoneที่ทรงพลังของการเปลี่ยนแปลงความจริง ไร้รูปร่างที่แน่นอนตายตัว พลังนี้ ได้แก่ กลุ่ม “กองทุนผสม” ที่มุ่งเน้นการผสมการลงทุนใน หุ้น และ ตราสารหนี้ในสูตรที่แตกต่างกันออกไป


เป้าหมายหลักในในการเติมส่วนผสมของ หุ้น เข้าไปนั้น ก็เพื่อจะเพิ่ม ผลตอบแทน ให้กับพอร์ตการลงทุน บุคลิกของ กองทุนผสม นี้ จึงมี DNA ของหุ้นประกอบอยู่ด้วยมากน้อยแตกต่างกันไปตามสัดส่วนนั่นเอง


แต่เมื่อรวมกันเป็นพอร์ตการลงทุนแล้วก็ช่วยดึงผลตอบแทนให้ดีขึ้นกว่าการลงทุนใน ตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว พร้อมกันนั้นยังเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยง ให้ลดลงเมื่อเทียบกับลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวด้วยเช่นกัน และส่งผลให้ ผลตอบแทน ในภาพรวมมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย  


โดย ผลตอบแทน และ ความเสี่ยง ก็จะแตกต่างกันไปตามสูตรของการผสม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลัก โดยใช้สัดส่วนการลงทุนใน ‘หุ้น’ เป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ได้แก่

  1. ‘Conservative Allocation’ มีการลงทุนในหุ้น ไม่เกิน 25%’
  2. ‘Moderate Allocation’ มีการลงทุนในหุ้นมากกว่า 20% แต่ไมเกิน 80%’
  3. ‘Aggressive Allocation’ มีการลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ ‘0-100%’ หรือ


ที่รู้จักกันในชื่อของ กองทุนผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Fund)’ นั่นเอง ซึ่งจัดเป็นพิมพ์นิยมเพราะมีการออกกองทุนผสมในรูปแบบนี้มากที่สุดในทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าว

 

ส่วนผสม...แตกต่างไปตามสูตร


สำหรับ กองทุนผสม ในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะผสมผสานระหว่าง 2 สินทรัพย์หลัก คือ หุ้น และ ตราสารหนี้ โดยสูตรการผสมก็มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


ในยุคเริ่มต้นก็จะมีการกำหนดสัดส่วนระหว่าง หุ้น กับ ตราสารหนี้ เอาไว้เลยชัดเจน เช่น หุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% เป็นต้น แต่เมื่อภาวะตลาดการเงินโลกรวมทั้งไทยเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ในยุคหลังก็จะมีการกำนดไว้เป็น กรอบสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้แทน เช่น ไม่เกิน 60% เป็นต้น ซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีการกระจายไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เพิ่มเติมด้วย

“หากเป็น กองผสมต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มของ Aggressive Allocation ในยุคหลังๆ มาก็จะใช้ชื่อที่คุ้นหูนักลงทุนส่วนใหญ่ว่า ‘Multi-Asset Fund’ กัน โดยเพิ่มเติมจุดเด่นของสูตรผสมให้อลังการงานสร้างกว่ากองในประเทศ ด้วยสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายกว่าและกระจายไปทั่วโลกนั่นเอง”


ดังนั้น ในกลุ่ม กองทุนผสม เองแม้จะอยู่ในกลุ่มหลักประเภทเดียวกัน แต่สูตรลับในการ ผสม ของแต่ละกองก็อาจจะ แตกต่างกัน ออกไปได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ลงทุนที่สนใจจะเสาะหาอัญมณี Reality Stone เม็ดนี้มาไว้ในครอบครองจึงไม่อาจละเลยเรื่อง ส่วนผสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กระทบไปถึง ผลตอบแทน และ ความเสี่ยง ของกองทุนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

 

กลไก...เบื้องหลัง ผลตอบแทน...ของกลุ่ม “กองทุนผสม”


Infinity Fundกลุ่มกองทุนผสมนี้ มีพลังเปลี่ยนแปลงความจริงที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสีย ต้องไม่ลืมว่า...ปัจจัยหลักที่มีผลต่อ ผลตอบแทน มากที่สุดก็คือ การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)’ นั่นเอง ซึ่งกองทุนกลุ่มนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพียงแต่สินทรัพย์ที่ผสมเข้าไปในกลุ่มกองทุนผสม ในประเทศส่วนใหญ่ยังโฟกัสไปที่ หุ้น กับ ตราสารหนี้ เป็นหลัก แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ประการใด ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้วในระดับหนึ่ง หากผู้ลงทุนเข้าใจก็สามารถ ต่อยอด เองได้เช่นกัน


ด้วยการขยายสินทรัพย์ให้มีความหลากหลาย หรือเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มขึ้นหรือลดลง ของพอร์ตการลงทุนใหญ่ในภาพรวมของคุณได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงนั่นเอง”


ย้อนมาดูกลไกซึ่งอยู่เบื้องหลังของ ‘Reality Stone’ ในกลุ่มนี้กันดีกว่าที่เป็นหนึ่งใน Key Success เลยก็ว่าได้ นอกเหนือไปจากเรื่องของการจัดสรรการลงทุนแล้ว ก็ยังมีกลไก ปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing)’ ที่เป็นกลยุทธ์ให้มีการ ซื้อถูก และ ขายแพง อย่างสม่ำเสมอ


สมมุติ
: กำหนดสัดส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ไว้ที่ 50-50 อย่างละครึ่ง ในช่วงที่ตลาดหุ้นดีอาจทำให้สัดส่วนของ หุ้น เพิ่มขึ้นเป็น 60% ในขณะที่สัดส่วนของ ตราสารหนี้ ลดลงเหลือ 40% ก็จะขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น (หรือกำไร) ออกมา 10% เพื่อไปซื้อตราสารหนี้ 10% ปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ 50-50 เหมือนเดิม


ในทางตรงข้าม เมื่อตลาดหุ้นตกจนทำให้สัดส่วนของ หุ้น ลดลงเหลือ 40% ทำให้ส่วน ตราสารหนี้ พองขึ้นเป็น 60% นั้น ก็จะขายตราสารหนี้ส่วนเกินออกมา 10% เพื่อนำไปซื้อหุ้น (ในจังหวะที่ราคากำลังลง) ปรับสัดส่วนให้กลับมาเป็น 50-50 อีกครั้ง


“สำหรับส่วนผสมที่ ตายตัว ก็จะมีกลไกการทำงานที่มองเห็นภาพ ชัดเจน กว่า แต่ที่กำหนดไว้เป็นช่วงก็มักจะมีสถานการณ์มากำกับไว้เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นไม่เกิน 50% ในภาวะปกติก็จะลงประมาณ 50% แต่ถ้าสถานการณ์หุ้นไม่ดีเป็นตลาดหมี (Bearish)’ ก็จะลดสัดส่วนหุ้นลงไปต่ำกว่านี้ได้ ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งไปขยับฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง ขึ้น หรือ ลง แทน”


ส่วนกองผสมที่มีการผสมสินทรัพย์หลากหลายก็มีแนวคิดเดียวกัน ด้วยการผสมไปตามสูตรเข้ามาเพื่อให้ได้ ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ถูกออกแบบไว้ แล้วก็ลงทุนไปตามกรอบการลงทุนหลักด้วย ‘วินัย’ ในขณะที่ระหว่างทางอาจจะมีการปรับสัดส่วนแต่ละสินทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน


ในยามที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นเช่นในปัจจุบัน แนวคิดในการไม่ใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวก็ยังคงใช้ได้เป็นอย่างดี “Infinity Funds” ในกลุ่ม ‘กองทุนผสม’ จึงถือเป็นอีกหนึ่งประเภทที่คุณควรจะต้องมีติดพอร์ตเอาไว้ กองทุนกลุ่มนี้สามารถถือเป็น ‘Core Port’ ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะกับผู้ลงทุนที่ไม่ถนัดในการจัดสำรับการลงทุนด้วยตัวเอง