“กบข.”...เปิด ‘ศูนย์ข้อมูลการเงิน’ ต่อยอดยุทธศาสตร์ ‘Member Centric’
>>
เมื่อพูดถึง “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)” แล้ว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ของไทย ในบทบาทและแง่มุมของ ‘การลงทุน’ เป็นสำคัญ ด้วยขนาดสินทรัพย์สุทธิ (31 มี.ค. 19) 9.08 แสนล้านบาท มีสมาชิก 1.07 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3 ของพันธกิจของกบข.เท่านั้น ยังมีเรื่อง ‘การให้บริการ-จัดสวัสดิการ’ และ ‘การส่งเสริมการออม’ เป็นอีก 2 พันธกิจหลักของกบข.เช่นเดียวกัน เมื่อมีโอกาสพบกับแม่ทัพใหญ่ขององค์กร “พี่เต๋-วิทัย รัตนากร” เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทีมงาน ‘Wealthythai’ จึงไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องราวที่น่าสนใจๆ มาฝากกัน
Wealthythai : ในอดีตคนนึกถึงกบข.ก็จะเป็นเรื่องการลงทุน แต่ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นเรื่องราวของกบข.ในมิติอื่น นอกเหนือไปจากเรื่องของการลงทุนมากขึ้นด้วย?
วิทัย : การลงทุนเป็นเพียงมิติเดียวในพันธกิจของเรา หลังรับตำแหน่งเลขาธิการ กบข. เมื่อกลางปี 2018 ได้กำหนดเป้าหมายผลสำเร็จในการทำงานว่าต้องการสร้างความรู้สึกผูกพัน (Engagement) ให้เกิดขึ้นระหว่าง กบข. และสมาชิก โดยให้สมาชิกรู้สึก ‘ภูมิใจ’ ที่ได้เป็นสมาชิก กบข. (Pride of Members) นั้น ในช่วง 6 เดือนแรกนั้นได้ปฏิวัติแนวทางสื่อสารและบริการมุ่งสู่นวัตกรรมสื่อสารและให้บริการรายบุคคล (Personalized Communication & Services) ผ่าน ‘My GPF App’ และ ‘สวัสดิการ’หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สมาชิกอยู่ใกล้กับเราและรักเรา มีความผูกพัน ให้รู้สึกว่าเราจับต้องได้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาชิกเป็นอย่างดีถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
“สำหรับ ‘My GPF Application’ นั้นเราพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกสามารถทำทุกอย่างผ่าน App ได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นสมาชิกจนถึงวันสุดท้ายเลยทีเดียว เริ่ม Soft Launch เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 18 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนมี.ค.19 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากสมาชิกดีมากมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากระดับ 40,000 ครั้ง/เดือน ขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 358,948 ครั้ง/เดือน นับเป็นปริมาณการใช้บริการสูงสุดตั้งแต่ กบข. เริ่มให้บริการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัล”
Wealthythai : แสดงว่าที่กบข.เดินมา...น่าจะมาถูกทางแล้ว?
วิทัย : (ยิ้มอารมณ์ดีก่อนจะตอบคำถามว่า...) แน่นอนสิ่งที่เราทำมานั้นน่าจะมาถูกทางแล้ว เห็นได้จากข้อมูลการเข้ามาใช้บริการข้อมูลผ่าน ‘My GPF App’ ไม่เพียงเท่านี้เรายังมีการสร้าง ‘GPF Community’ ผ่านช่องทางการสื่อสารทั้ง Facebook ,Line รวมทั้ง ‘My GPF App’ ด้วยรูปแบบการสื่อสารด้วยเรื่องราวที่ง่าย มีการใช้ Info Graphic ต่างๆ ก็ได้รับการตอบรับจากสมาชิกดีเช่นกัน มีจำนวนผู้เข้าร่วม ‘GPF Community’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากต้นปี18 มีประมาณ 92,302 คน เพิ่มเป็น 310,888 คน ในปัจจุบัน ‘ทะลุเป้า’ ปีนี้ที่มองไว้ที่ 250,000 คน ไปเรียบร้อยแล้ว คาดสิ้นปีน่าจะไปถึง 400,000 คนได้ โดยเราอยากจะไปให้ถึงระดับ 500,000 คน ให้ได้ในระยะต่อไป
“ในส่วนของสวัสดิการเองนั้น เราก็จับมือกับพันธมิตรจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกของเรา สามารถจัดหาดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยถูกสุดในระบบให้สมาชิกได้ หรือการขอลดอัตราดอกเบี้ยของสมาชิกที่ใช้สินเชื่อ ‘ธ.กรุงไทย’ ให้โดยไม่จำเป็นต้องกู้ใหม่ เป็นต้น ในช่วงที่ผ่านมาก็มีจำนวนสมาชิกของรับสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้นจากต้นปี18 ที่มีประมาณ 5,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 43,203 คน ในปัจจุบัน จะเห็นว่าในทุกช่องทางที่เราให้บริการและสื่อสารกับสมาชิกนั้น ตัวเลขการตอบรับของสมาชิกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติเลยทีเดียว”
Wealthythai : ขอวกกลับมาเรื่องการลงทุนบ้าง ปัจจุบันดู ‘สงครามการค้า’ ระหว่างสหรัฐ-จีนก็กลับมาเขย่าตลาดการเงินโลกอีกครั้งแล้ว เรามีมุมมองและปรับเปลี่ยนพอร์ตอย่างไรบ้าง?
วิทัย : การคาดการณ์การลงทุนในปัจจุบันยอมรับว่าทำได้ยากจริงๆ เพราะมี “ทรั้มป์” เป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยากและมีอิทธิพลสูงต่อตลาดการเงินโลกเพียงแค่ Tweet เดียวเท่านั้น (หัวเราะเล็กน้อย) ปัจจุบันปัจจัยสงครามการค้ากลับมาทำให้ตลาดกังวลอีกครั้ง แต่เรายังมองว่าไม่น่าจะลุกลามจนรุนแรงอะไร แม้สหรัฐจะขยายการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามที่ขู่ไว้ก็ตาม พอร์ตของกบข.ในช่วงปลายปี18 นั้น อยู่ในโหมดหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk off) จะเห็นได้จากการลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงและในส่วนที่เป็น ‘ตราสารหนี้’ นั้นก็อยู่ใน ‘ตราสารหนี้ไทยระยะสั้น’ ถึง 28.1% แต่พอข้ามปีมาปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นและสงครามการค้าก็คลี่คลายไปเราก็ปรับมาอยู่ในโหมด Risk on
“ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สงครามการค้ากลับมาอีกครั้งตอนนี้เราอยู่ในโหมด Moderate Risk on คือยังคงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่แต่ลดลง แต่ไม่ใช่ Risk off เหมือนช่วงปลายปี18 มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน ‘หุ้น’ ขึ้นเป็น 21% และขยายอายุของตราสารหนี้ไปยัง ‘ตราสารหนี้ระยะกลาง’ (อายุ 3 – 5 ปี) มากขึ้น ทำให้สัดส่วน ‘ตราสารหนี้ระยะสั้นไทย’ ลดเหลือ 19.4% รวมถึงการขยับไปลงทุนใน ‘ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่’ ที่เป็นพันธบัตรภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีมาเราทำได้เฉลี่ย 3.17% และน่าจะดีที่สุดถ้าเทียบกับกองทุนรวมที่มีสัดส่วนการลงทุนใกล้เคียงกับเรา ดังนั้นมองไปทั้งปีผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับ 5 – 6% น่าจะถึงได้ ไม่ได้เป็นกังวลอะไรในส่วนของการลงทุน”
Wealthythai : ปัจจัยอะไรที่จะทำให้กบข.กลับสู่โหมด Risk off อีกครั้ง ที่มีคนพยายามจับตาเกี่ยวกับ Inverted Yield Curve นั้น เรามองยังไงบ้าง?
วิทัย : (ตอบด้วยสีหน้าจริงจังว่า...) ปัจจุบันเรายังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่น่ากังวลจนจะทำให้ต้องกลับไปสู่โหมด Risk off อีกครั้ง แม้เรื่องสงครามการค้าในปัจจุบันก็ตาม ยกเว้นจะลุกลามไปไกลกว่านั้นมาก แต่ถ้าแค่ข้อมูลที่ปรากฎกันออกมานั้นยังน่าจะเอาอยู่ ไม่น่ากังวลอะไร ส่วนเรื่อง Inverted Yield Curve นั้น เป็นแค่สัญญาณเตือน ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ที่เขากลัวนั้นกลัว ‘เศรษฐกิจถดถอย (Recession)’ มากกว่า ถ้าเราจะเข้าสู่โหมด Risk off ก็คงต้องเกิด Recession ขึ้น เหมือนที่ทั่วโลกเคยกังวลว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี18 ที่ผ่านมา
Wealthythai : กลับมาถึงเรื่องที่กบข.กำลังจะทำถัดไปหลังจากนี้ มีอะไรบ้าง
วิทัย : หลังจากที่ช่วงแรกเราได้วางรากฐานในโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดยุทธศาสตร์ ‘Member Centric’ และ ‘Pride of Members’ อย่างต่อเนื่อง วันนี้ (23 พ.ค. 19) กบข. จึงเปิด “ศูนย์ข้อมูลการเงิน” (Financial Assistant Center)” ภายใต้แนวคิดการสร้าง กบข. ให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกเมื่อต้องตัดสินใจทางการเงิน
“โดยศูนย์ฯ ประกอบด้วยบุคลากรที่ได้รับคุณวุฒิ ‘นักวางแผนการเงิน (CFP)’ และ ‘ที่ปรึกษาการเงิน (AFPT)’ จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ทำให้มั่นใจว่าสามารถให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินและแนวทางการจัดการเงินได้เป็นอย่างดี บริการของศูนย์ฯ เป็นแบบ ‘ส่วนบุคคล (Personalized Service)’ สมาชิกจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ตรงความสนใจ เช่น การวางแผนเกษียณ การลดหย่อนภาษี การจัดการหนี้ การเริ่มต้นลงทุน เป็นต้น ผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งการนัดหมายเพื่อติดต่อกลับทางโทรศัพท์ วีดีโอคอล (Live Chat) หรือนัดพบเจ้าหน้าที่ (One-on-One) หรืออีเมลสอบถามมาที่ [email protected] ซึ่งน่าจะรองรับการให้บริการได้ 15,000 คน/ปี”
นอกจากนี้ กบข.ยังมี ‘โครงการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ’ ซึ่งเปิดให้บริการไปก่อนหน้าแล้วด้วย กบข. ยังมีอีกหลายโครงการที่พร้อมจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เช่น
- โครงการที่ปรึกษาบริหารจัดการหนี้ ที่ กบข. จะไปร่วมมือกับ ‘บจ.บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท’
- โครงการจัดทำ Retirement Readiness Index เพื่อสร้างดัชนีความมั่นคงทางการเงินสำหรับสมาชิกได้เทียบวัดค่าความมั่นคงทางการเงินของตนเองเทียบเคียงกับเพื่อนข้าราชการสมาชิก กบข. อื่น และในระยะถัดไปจะขยายไปทำในระดับประเทศด้วย
- โครงการจัดทำ ESG Market Force ที่กบข.จะร่วมกับ ‘นักลงทุนสถาบัน’ อื่นๆ เพื่อจัดทำ ‘Negative List Guideline’ ขึ้น เพื่อมีแอ๊คชั่นกับหุ้นที่ไม่มีธรรมาภิบาล เช่น ไม่ซื้อหุ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน จนกว่าจะมีการแก้ไข เป็นต้น
นับเป็นก้าวย่างที่ท้าทายและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง สำหรับกบข. ภายใต้การนำของ ‘พี่เต๋-วิทัย รัตนากร” คนนี้ ที่ทำให้ทุกจังหวะก้าวเต็มไปด้วยสีสันและไม่ถูกจำกัดไว้แค่เรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป