“บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)” หนึ่งในบลจ.ต่างชาติที่ติดอยู่ในทำเนียบ ‘TOP 10’ บลจ.ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) สูงสุด และเป็นหนึ่งใน 2 บลจ.ต่างชาติที่ติดอยู่ในทำเนียบนี้ด้วย AUM สิ้นปี18 ที่ 2.10 แสนล้านบาท ผ่านเข้าปี19 เพียง 4 เดือน AUM เดินหน้าแตะ 2.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% ในขณะที่อุตสาหกรรมโดยรวมโตเพียง 5% เท่านั้นและทั้งปีน่าจะเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้ 15% ได้ไม่ยากเย็นอะไร
เมื่อมีโอกาสได้พบเจอกับ ‘ทีมผู้บริหาร’ แห่งค่ายยูโอบีครบชุด ทางทีมงาน Wealthythai ย่อมไม่พลาดที่จะเก็บเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย
พร้อมรุกทุกธุรกิจเต็มรูปแบบ...รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
“วนา พูลผล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บอกว่า ช่วง 4 เดือนแรกในภาพรวมทุกธุรกิจมีการเติบโตได้ดี โดยธุรกิจ 'กองทุนรวม’ โตกว่า 4% จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีความหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนจากสภาวะตลาดการลงทุนโลกและเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวลง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดย ‘กองทุนใหม่’ 5 กองที่ออกในช่วง 4 เดือนแรก มียอดซื้อในช่วง IPO กว่า 3,492 ล้านบาท
ในขณะที่ ‘กองทุนเก่า’ ที่มีการเติบโตโดดเด่นในช่วง 4 เดือนแรก มี 3 กอง ได้แก่
- ‘กองทุนเปิด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ (UGQG)’ มี AUM เพิ่มขึ้น 213% (465 ล้านบาท)
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB)’ มี AUM เพิ่มขึ้น 67% (1,566 ล้านบาท)
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN)’ มี AUM เพิ่มขึ้น 48% (3,048 ล้านบาท)
ทางด้านธุรกิจ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ ช่วง 4 เดือนแรก โตขึ้น 21% เช่นเดียวกับธุรกิจ ‘กองทุนส่วนบบุคล’ ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทเองมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดีและสม่ำเสมอเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทเสมอมา
“บริษัทยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่จะเสริมสร้างความสะดวกให้กับผู้ลงทุน ในการเร่งพัฒนาบริการออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ในโลกดิจิตอล โดยบริการการรับชำระเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนด้วยระบบ “QR code” จะพัฒนาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในไตรมาส2 นี้ ประมาณเดือนก.ค. เพื่อรองรับการชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนได้จากธนาคารชั้นนำหลายแห่ง บริการรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนด้วยระบบ QR Code นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งของบริษัทเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน”
“Trade War”...ลากยาวความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก มองหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,580-1,750 จุด
หันกลับมาที่มุมมองการลงทุนกันบ้าง “อรพรรณ ตัณฑประศาสน์” ผู้อำนวยการอาวุโส (1) ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจนโดยปัจจัยเสี่ยงหลักยังมาจาก ‘สงครามการค้า (Trade War)’ ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก ล่าสุดสหรัฐพร้อมขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนอีก หากจีนไม่ให้ความร่วมมือ ส่วนจีนเองก็ออกมากล่าวเตือนบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ให้เตรียมรับมือถึงผลกระทบระยะยาว หากบริษัทเหล่านี้ยกเลิกการทำธุรกิจกับบริษัทจีน ตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์
“ประเด็นดังกล่าวมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้สามารถเติบโตได้ในระดับปานกลางแต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และส่งผลให้ตลาดทุนมีความผันผวนสูงขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารกลางในประเทศต่างๆเล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการเจรจาการค้า จึงเริ่มดำเนินการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ และคงไม่ได้ลดมากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้เพราะอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ติดลบนั่นเอง เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยสหรัฐก็อยู่ที่ 2.50% ในขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 1.7-1.8%”
ดัชนีชี้วัดที่ทางกลุ่มยูโอบีใช้ติดตามดูภาวะเศรษฐกิจโลกว่ามีความเสี่ยงจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือไม่นั้น ปัจจุบันก็อยู่ในโซนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี19 แต่ยังไม่น่ากังวลแต่ประการใด
“หากดูมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกผ่าน ‘5Y P/E Movement’ จะพบว่าปัจจุบันตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั้งที่เป็น ‘ตลาดพัฒนาแล้ว’ และ ‘ตลาดกำลังพัฒนา’ นั้นมีลักษณะคล้ายกันคือปรับตัวลงมาจนอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีแล้ว บางตลาดเริ่มน่าสนใจ แต่คงต้องเลือกให้เหมาะสมด้วย ส่วน ‘ตลาดหุ้นไทย’ เองปัจจุบันถือว่าค่อนข้างแพง ซื้อขายที่ P/E บวก 1 S.D. เรามองกรอบการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยปีนี้อยู่ระหว่าง 1,580 - 1,750 จุด และมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ไปถึงสิ้นปี ถ้าไม่มีปัจจัยเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศปรับตัวลงอย่างมากมากดดัน”
“ลดหุ้น-เพิ่มตราสารหนี้”...เน้นคุณภาพรับ ‘ปลายเศรษฐกิจขาขึ้น’
เมื่อภาพรวมของสถานการณ์ลงทุนโลกถูกกดดันจากสารพัดปัจจัยเสี่ยง “นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) แนะนำว่า ในช่วงปลายเศรษฐกิจขาขึ้นความผันผวนของตลาดก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน นอกเหนือไปจากปัจจัยลบที่เข้ามากดดันที่มีอยู่แล้ว ‘ตลาดหุ้น’ ก็จะผันผวนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ทำให้การให้น้ำหนักการลงทุนใน ‘ตราสารหนี้’ และ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลดความเสี่ยงและความผันผวน
“ทางด้าน ‘หุ้น’ แนะนำลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายตัวของสินทรัพย์ และเน้น ‘หุ้นคุณภาพสูง’ เป็นหลัก สำหรับการลงทุนในรายประเทศหรืออุตสาหกรรมเฉพาะตัว จะมีความผันผวนสูงแต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในจังหวะการลงทุนที่ถูกต้อง จึงเหมาะสำหรับการลงทุนแบบยืดหยุ่นที่จัดสรรการลงทุน ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนระยะยาว และแสวงหาโอกาสในการลงทุนช่วงสั้นถึงกลาง (Satellite)”
บริษัทได้คัดสรร 6 กองทุน ที่ตอบโจทย์การลงทุนในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ดังนี้
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS)’
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB)’
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN)’
- ‘กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว ชนิดไม่จ่ายเงินปันผล (UOBLTF)’ และ ‘กองทุนเปิด ยูโอบี หุ้นระยะยาว ชนิดจ่ายเงินปันผล (UOBLTF-D)’
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ (UGQG)’
- ‘กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไดนามิค บอนด์ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ฟันด์ 3Y2 (UDBC3Y2)’
“สำหรับ ‘กอง UDBC3Y2’ เป็นกอง Structure Fund อยู่ระหว่างการเสนอขายครั้งแรกวันนี้ – 25 มิ.ย. อายุโครงการ 3 ปี แบ่งโครงสร้างการลงทุนเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่1) ส่วนของเงินต้น กองทุนจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก อายุประมาณ 3 ปี โดยมีกลยุทธ์การลงทุนครั้งเดียวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และส่วนที่ 2) กองทุนจะลงทุนในสัญญาวอร์แรนท์ (Call Warrant) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับมูลค่าหน่วยลงทุน ‘กองทุน Jupiter Dynamic Bond L EUR Acc’ ซึ่งกองทุนถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง ในขณะที่ยังคงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในตราสารหนี้ และเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนในขาขึ้นอย่างไม่จำกัด โดยจ่ายผลตอบแทนใน 3 ลักษณะ คือ 0% , 0-8% และมากกว่า 8% ขึ้นกับ ‘เงื่อนไข’ ผลตอบแทนจากมูลค่าหน่วยลงทุนของกอง Jupiter Dynamic Bond L EUR Acc เป็นสำคัญ”
ในท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง แต่ ‘บลจ.ยูโอบี’ ก็ยังคงเดินหน้าขยับสู่เป้าหมายการเติบโตที่ตั้งใจเอาไว้ และเป็นการก้าวย่างไปพร้อมๆ กับการนำพา ‘นักลงทุน’ เดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเส้นทางการลงทุนไปด้วยกันนั่นเอง