“มอร์นิ่งสตาร์” เผยปี18 ‘กอง FIF’ มีสินทรัพย์สุทธิ 5.7 แสนล้านบาท ลดลง 15.6% พบเงินไหลเข้าสุทธิกลุ่ม ‘กองอสังหาฯ โลก-หุ้นโลก-หุ้นจีน’ มากสุด

>>

ในปี 2018 ที่ผ่านมานั้น สถานการณ์การลงทุนทั่วโลกเต็มไปด้วยปัจจัยผันผวน อุตสาหกรรมกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 5.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 0.8% จากปี 2017 มีการเปิดกองทุนใหม่จำนวน 161 กองทุน (ไม่รวม Term Fund) โดยในไตรมาสที่ 4 มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.0 พันล้านบาท โดยนักลงทุนยังให้ความสนใจกับการลงทุนใน ‘สินทรัพย์เสี่ยง’ อย่างตราสารทุนโดยทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ ‘กองทุนหุ้น’ ถึง 2.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามในส่วนของ ‘กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF)’ ในปี2018 นั้น กลับปรับตัวลดลง

“บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)” ระบุว่า ในปี2018 ที่ผ่านมานั้น กลุ่ม ‘กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF)’ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.7 แสนล้านบาท ลดลง 15.6% จากปี 2017 โดยกลุ่มกองทุนรวมต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่สุดนั้น ยังเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงไม่มากนัก นำมาโดยกลุ่ม ‘กองผสมโลก’ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท ลดลง 20.8% ตามมาด้วยกลุ่ม ‘กองตราสารหนี้โลก’ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลง55.1% ในทางกลับกันกลุ่มกอง FIF-หุ้น กลับมีการเติบโตค่อนข้างดี เห็นได้จากอัตราการเติบโตของทรัพย์สินสุทธิในกลุ่ม ‘กองหุ้นจีน’ , ‘กองหุ้นโลก’ และ ‘กองอสังหาริมทรัพย์โลก’ ที่เติบโตถึง 30.8%, 59.0% และ 95.2% ตามลำดับ

ทั้งนี้กอง FIF ในปี2018 นั้น มีเงินไหลออกสุทธิ 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากลุ่ม ‘กองผสมโลก’ และ ‘กองตราสารหนี้โลก’ เป็นสำคัญ ในขณะที่มีเงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่ม ‘กองอสังหาริมทรัพย์โลก’ มากที่สุดโดยมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ทำให้สิ้นปีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 7.1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม ‘กองหุ้นโลก’ มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าจากกองทุนเปิดใหม่ (25 กอง) ราว 8.1 พันล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่ม ‘กองหุ้นจีน’ มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นกองทุนเปิดใหม่ 10 กองทุน คิดเป็นเงินไหลเข้า 9.2 พันล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินเติบโต 30.8% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 3.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับกอง FIF ที่ลงทุนในแบบ Feeder fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 4.0 แสนล้านบาท ลดลง 26% จากปี17 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินแบ่งเป็น ‘กลุ่มตราสารทุน’ 2.3 แสนล้านบาท (คิดเป็น 56% ของมูลค่ากองทุนที่ลงทุนผ่าน Master Feeder scheme) ‘กลุ่มตราสารหนี้’ 8.2 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการไหลออกของกองทุนกลุ่ม ‘กองตราสารหนี้โลก’ ซึ่งมีการไหลออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ทางด้านส่วนแบ่งตลาดนั้น 5 บลจ. ต่างประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันประมาณ 1.9 แสนล้านบาท หรือประมาณ 47% ของมูลค่าตลาดกองทุนทั้งหมด นำมาโดยอันดับ 1) PIMCO, 2) BlackRock, 3) JPMorgan, 4) State Street, และ 5) Deutsche

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนในตลาดโลกที่ยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่องนั้น การกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศผ่าน “กองทุน FIF” ก็ยังเป็นอีกทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์การลงทุนของคุณได้เป็นอย่างดี