“กองทุนรวม”...คืออะไร?

>>

“กองทุนรวม (Mutual Funds)”...คือ อะไร?


หลายคนอาจจะเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘กองทุนรวม’ ผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย


แต่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่า...แท้จริงแล้ว ‘กองทุนรวม’ นั้น คืออะไรกันแน่

         
จะเหมือนกับ ‘กองทุนหมู่บ้าน’ หรือ ‘กองทุนน้ำมันเชื่อเพิลง’ ที่เป็นนโยบายภาครัฐหรือเปล่า?

         
ไปแบงก์ก็เจอแนะนำโพรดักต์สารพัด ทั้งเงินฝาก ทั้งประกัน ทั้งบัตรเครดิต ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล เอ๊ะ...ทั้ง ‘กองทุนรวม’ ด้วยนี่นา

         
วันนี้ทีมงาน Wealthythai จะพาคุณมาทำความรู้จักกับ ‘กองทุนรวม’ กันอีกครั้ง

 


“กองทุนรวม”...เครื่องมือการลงทุนเพื่อ ‘รายย่อย’


         
ก่อนอื่นจะขอแนะนำให้รู้จักกับ “กองทุนรวม” อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในแบบที่ไม่เป็นทางการมากนัก

           
กองทุนรวม”…เป็น ‘เครื่องมือการลงทุน’ ที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนรายย่อยทั่วโลกโดยเฉพาะ (แต่รายใหญ่เงินหนาที่สนใจก็ลงทุนได้เช่นกัน ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด) เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องการลงทุนนั่นเอง

           
ลงทุนในอะไร? ก็ลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนที่มีอยู่ในโลกใบนี้ได้ทั้งหมด ถ้านโยบายเขียนไว้ให้ลงทุนได้ ไม่ว่าจะเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ทั้ง ‘ในประเทศ’ หรือ ‘ต่างประเทศ’ ลงทุนได้ตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุดไปจนถึงสูงสุดเลยทีเดียว

           
หลักการก็แสนง่าย...

           
โดยรวมเงินของนักลงทุน ‘รายย่อย’ แต่ละคนมารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ใน ‘กองทุนรวม’ แทน แล้ว ‘กองทุนรวม’ ก็จะนำเงินที่ระดมทุนมาได้จากนักลงทุนรายย่อยทั้งหมดนี้แหละ ไปลงทุนใน ‘สินทรัพย์’ ต่างๆ แทนคุณ ตามแต่นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมนั้นๆ ที่ระบุเอาไว้ โดยคุณก็จะเปลี่ยนสถานะไปเป็น ‘ผู้ถือหน่วยลงทุน’ ในกองทุนรวมแทนนั่นเอง

           
“จึงเป็นเหมือนอุดมการณ์รวมคน รวมเอาคนที่มีมุมมองการลงทุนเหมือนกันมาไว้ใน ‘กองทุน’ เดียวกัน แล้วกองทุนก็ไปลงทุนต่อแทน โดยจะนำผลตอบแทนที่ทำได้นั้นมาเฉลี่ยกลับคืนตามสัดส่วนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทั้ง ‘กำไร/ขาดทุน’ ตามผลการดำเนินงานที่กองทุนรวมนั้นทำได้เป็นสำคัญ”

           


“กองทุนรวม”...มี ‘มืออาชีพ’ บริหารให้เต็มเวลา


ถ้าคุณมีเงิน มีเวลา มีความรู้ความสามารถเพียงพอ ‘ลงทุนเอง’ ก็ได้ อาจจะเป็นทางเลือกแรกๆ ของคุณเลยก็ได้

           
แต่ถ้าคุณมีเงินลงทุนจำกัด (เงินน้อย) ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก การ ‘ลงทุนทางอ้อม’ ผ่านกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน (ไม่ใช่ลงทุนเองไม่ได้ ก็เลยไม่ลงทุนนะ)

           
บอกแล้วว่า ‘กองทุนรวม’ สร้างมาเพื่อรายย่อยโดยเฉพาะ อะไรที่เคยเป็นข้อจำกัดในการลงทุนของรายย่อยจะหมดไปเมื่อทำผ่านเครื่องมืออย่าง ‘กองทุนรวม’

         
“ด้วยเงินหลักร้อย หลักพัน คุณก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่คุณสนใจได้แล้วด้วยกลไกของ ‘กองทุนรวม’ โดยจะมีผู้บริหารเงิน “มืออาชีพ” ที่เรียกว่า ‘ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)’ ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการเงินลงทุนของกองทุนรวมให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนนั้นๆ และเป็นการบริหารแบบ ‘เต็มเวลา (Full Time)’ เพราะนั่นเป็นอาชีพของเขาโดยตรง ซึ่งผลตอบแทนและความเสี่ยงก็เป็นไปตามแต่ลักษณะของสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนเป็นสำคัญ”


นอกจากนี้ การที่ “กองทุนรวมไม่ใช่หน่วยภาษี” รายได้ของกองทุนรวมจึงไม่เสียภาษีเงินได้ กองทุนรวมจึงสามารถที่จะถ่ายทอดผลประโยชน์ผ่านไปถึงมือผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าผู้ลงทุนจะไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ด้วยตัวเอง

 

 

มีหลายฝ่าย...ช่วยดูแลการทำงานของ “กองทุนรวม”

           
เนื่องจาก ‘กองทุนรวม’ เป็นเครื่องมือการลงทุนสำหรับนักลงทุน ‘รายย่อย’ จึงทำให้โครงสร้างของกองทุนรวมในมิติของการกำกับดูแลมีความเข้มข้นมากไปด้วย เรียกว่า...นักลงทุนสบายใจได้ว่า ‘เงินลงทุน’ ที่ใส่เข้ามาในกองทุนรวมนั้นจะไม่อันตรธานหายไปไหนเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่ปรากฎในหน้าข่าวให้เห็นเป็นประจำอย่างแน่นอน ส่วนจะ ‘กำไร/ขาดทุน’ นั้นก็เป็นไปตามผลการดำเนินงานที่กองทุนทำได้เป็นสำคัญ (ไม่ต่างอะไรกับการไปลงทุนเองโดยตรง)

           
กว่าจะมาเป็น “กองทุนรวม” ไม่ง่าย ต้องผ่านการกลั่นกรองมาละเอียดยิบ ตัว ‘บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)’ ต้องได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนรวมจาก “กระทรวงการคลัง” 


ส่วนโครงการลงทุนที่จัดตั้งเป็น ‘กองทุนรวม’ ต่างๆ ที่คุณเห็นกันอยู่มากมายนั้นก็ต้องได้รับการการพิจารณาและอนุมัติจาก “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)” ด้วย นอกจากนี้สำนักงานก.ล.ต.ก็จะคอยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมี


‘ผู้ดูแลผลประโยชน์’ มาคอยดูแลให้บลจ.จัดการกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน คอยทำหน้าที่ชำระราคาค่าซื้อและรับชำระราคาจากการขายทรัพย์สิน รวมทั้งเก็บทรัพย์สินของกองทุนรวม เป็นต้น (ส่วนบลจ.มีหน้าที่บริหารอย่างเดียว)


‘ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต’ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานก.ล.ต.ที่เป็นอิสระคอยตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกองทุนและให้ความเห็นชอบงบการเงินของกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี


‘นายทะเบียนหน่วยลงทุน’ เป็นสถาบันที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต. ให้ดูแลทะเบียนยรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนต่างๆ


ที่สำคัญ ‘กองทุนรวม’ นั้นมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” แยกออกมาต่างหากจาก ‘บลจ.’ โดยเงินที่ระดมทุนได้จากการขายหน่วยลงทุน จะถูกไปจดทะเบียนกับสำนักงานก.ล.ต. ด้วยเหตุนี้ทรัพย์สินของกองทุนรวมจึงถูกแยกออกจากทรัพย์สินของบลจ.ตั้งแต่แรก


“ดังนั้นถ้าหากบลจ.หมดสภาพความเป็นนิติบุคคลไปไม่ว่ากรณีใด เช่น บริษัทล้มละลาย เลิกกิจการด้วยเหตุผลอื่น เป็นต้น กองทุนรวมและทรัพย์สินของกองทุนรวม จะไม่ถูกกระทบกระเทือนแต่ประการใด”


โดยอาจจะมีการโอนย้ายกองทุนรวมที่เคยบริหารจัดการโดยบลจ.ที่ยุติกิจการไปไว้ในการดูแลบริหารของบลจ.อื่นแทน เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนรวมต่อไป หรือกรณีที่ยกเลิกกองทุนก็จะมี ‘ผู้ชำระบัญชี’ ทำการชำระบัญชีเฉลี่ยเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยไปในท้ายที่สุด


จะเห็นว่า... ‘กองทุนรวม’ นั้นเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ไม่เพียงจะตอบโจทย์นักลงทุนได้เป็นอย่างดี ยังมีกระบวนการกำกับดูแลที่เข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง นักลงทุนที่ลงทุนก็สบายใจได้เลยว่า...ไม่มีอยู่ๆ เงินกองทุนจะหายจนตามมือใครดมไม่ได้เหมือนกับ ‘แชร์ลูกโซ่’ อย่างแน่นอน