“เศรษฐกิจไทย”...พร้อมเผชิญหน้าทุกความท้าทาย

>>

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังครุกรุ่น ไม่ทราบว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นสูตรไหนนั้น แต่ทุกอย่างยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ในงาน MFC Forum ครั้งที่21 “Investing in Thailand –Facing the next decade” ที่จัดโดย ‘บลจ.เอ็มเอฟซี’ นั้น มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจ ทางทีมงาน Wealthythai” เก็บตกมาฝากกันเช่นเคย


มั่นใจ “รัฐบาลใหม่”...นำพาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ

“ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี” ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า โลกกำลังอยูในช่วงที่ ‘เศรษฐกิจชะลอตัว’ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของวงจรเศรษฐกิจ แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่น่าห่วงเรื่อง ‘วิกฤติ’ แต่ประการใด เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ระดับ 3.8% หรือต่ำกว่า 4% ในปี19 โดยยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศในช่วงนี้ได้


 
( ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี )

 

"การเมืองในท้ายที่สุดจะมี ‘รัฐบาลใหม่’ อย่างแน่นอน เป็นรัฐบาลผสมเพียงแต่จะเป็นสูตรไหนเท่านั้น ถ้า 2 ขั้วใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ รัฐธรรมนูญก็ยังมีบทเฉพาะกาลที่เปิดให้สามารถเชิญคนนอกเข้ามาเป็นนายกได้ โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสภาฯ และใช้เสียงรับรอง 2 ใน 3 เพื่อเป็นทางออกเอาไว้อยู่แล้ว”

เศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งการค้าขายก็เกินดุลตลอด ทำให้ ‘เงินบาท’ แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาและยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ยังเติบโตได้ในระดับที่ดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะมีกำไรเติบโตได้อย่างไร สภาพคล่องมาก อัตราดอกเบี้ยต่ำ

สำหรับ ‘นักลงทุนต่างชาติ’ คงยังรอภาพที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่อยู่แต่ก็ไม่น่ากังวลอะไร ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายคงไม่ปรับขึ้นแล้วในปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย มองว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็น่าจะอยู่ระดับนี้ ปัจุบัน 1.75%

“จากสถิติเศรษฐกิจจะดีก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง เลือกตั้งปี2001 ,2008 และ 2011 ก็เป็นเช่นนั้น จนเกิดการชุมนุมทางการเมืองหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจจึงสะดุด ดังนั้น ‘การชุมนุมทางการเมือง’ ถือเป็นตัวแปรที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสถิติที่ผ่านมา แต่ในปี2019 นี้ มั่นใจว่า...ทุกอย่างจะเรียบร้อยและไม่น่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้น

ดังนั้นเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ก็น่าจะดี และรัฐบาลใหม่ก็คงเดินหน้าเศรษฐกิจต่อ นโยบายการ ‘ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย’ ของคนส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ควรทำต่อและสนับสนุนให้ทำ ในขณะที่นโยบายที่ ‘แจกเงิน’ ในฝั่งของการดูแลเรื่องรายได้คนนั้นควรจะเลิกไปและไม่ควรทำต่อ”


“ผลตอบแทนหุ้น”...ช่วง 10 ปีจากนี้ อาจไม่ได้ดีเท่าที่ผ่านมา

“เดนิส ลิม” กรรมการผู้จัดการร่วม บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) บอกว่า บริษัทพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับคนเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ของโลกที่กำลังจะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการนำ Big Data , AI มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับลูกค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ย ‘ต่ำ’ เช่นนี้ นักลงทุนคงต้องมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าให้กับตัวเอง

“บริษัทในฐานะ บริษัทจัดการลงทุนก็จะต้องคอยมองหาโอกาสเหล่านั้นที่มีอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อนำเสนอให้กับนักลงทุนของเราต่อไป”

“สุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มองว่า เมื่อผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น การลงทุนใน ‘กลุ่มตราสารหนี้’ คงไม่ตอบโจทย์เพราะอัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ‘หุ้น’ ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว อย่างไรก็ตามจากนี้ไปในช่วง 10 ปี ข้างหน้า ผลตอบแทนของหุ้นคงไม่ดีเท่ากับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 16% ต่อปี

แต่จากนี้ไปคงไม่ได้มากเช่นนี้ เพราะแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในอนานคตก็มีแนวโน้มเติบโตลดลงเหลือ 5 -7% ต่อปี เท่านั้น ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยผลตอบแทนในอนาคตก็อาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้จัดการกองทุนเช่นกัน

“อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อมั่นว่า ‘การบริหารเชิงรุก (Active Management)’ ด้วยการเลืกหุ้นรายตัวที่มีศักยภาพในการเติบโตดีกว่าตลาดและมีราคาถูกกว่าตลาด จะเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในระยะยาวให้กับผู้ลงทุนได้ รวมไปถึงกลยุทธ์ Enhance Index ที่บริษัททำจนประสบความสำเร็จก็ยังเป็นอีกกลยุทธ์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นให้กับผู้ลงทุนได้

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแพง เทรดบนสัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) 15 เท่า ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 12 เท่า และมองว่าตลาดหุ้นสิ้นปีน่าจะอยู่บริเวณ 1,700 จุด ต้นๆ เท่านั้น ตลาดหุ้นไทยถือว่ายังดีและมีเสถียรภาพ สามารถลงทุนระยะยาวได้”

“เศรษฐกิจไทย” เป็น ‘เศรษฐกิจเปิด’ และมีขนาดเล็ก ดังนั้นเศรษฐกิจต่างประเทศย่อมส่งผลกระทบกับไทยทั้งในเชิง ‘บวก’ และ ‘ลบ’ ได้เช่นกัน แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยเองยังคงแข็งแกร่ง หลังจากมี ‘รัฐบาลใหม่’ แล้ว เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังจะเดินหน้าพร้อมเผชิญกับทุกความท้าทายได้อย่างแน่นอน