“สัดส่วนกำไรต่อAUM” ของอุตสาหกรรมปี18 อยู่ที่ 0.16%
พาส่องผลงาน “บลจ.” กันมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว ครั้งนี้เราจะพามาดูตัวเลขหนึ่ง ที่นำเอา ‘กำไร’ มาเทียบกับ ‘สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM)’ เป็นอัตราส่วน “กำไรต่อ AUM” ขึ้นมา เพื่อจะดูว่า คุณภาพของสินทรัพย์เป็นอย่างไรบ้าง โดยนับเฉพาะบลจ.ที่มีครบซึ่งมี 22 แห่ง
“พบว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้นอยู่ที่ 0.16% โดยมี 10 บลจ. คิดเป็น 45.45% ของทั้งหมด ที่มี ‘กำไรต่อ AUM’ สูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่อีก 12 บลจ. คิดเป็น 54.55% ของทั้งหมด ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย”
“บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด”...แชมป์ ‘กำไรต่อ AUM’ สูงสุด 0.38%
ขนาดสินทรัพย์ที่มีสามารถสร้างผลกำไรให้กับตัวบลจ.ได้มากน้อยแค่ไหน บางแห่ง AUM มาก แต่เมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ กลับดูว่า ‘น้อย’ ในขณะที่บลจ.อีกแห่ง อาจมี AUM น้อยกว่า แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนกำไรที่ทำได้กลับดู ‘มากกว่า’ แสดงว่า...สินทรัพย์ที่มีนั้นในแง่ของคุณภาพในการสร้างผลกำไรให้กับตัวบลจ.เองนั้น ก็แตกต่างกันออกไป
“ตรงนี้ก็อาจจะบ่งบอกถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของบลจ.ได้ในระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยบลจ.ที่มีสัดส่วน ‘กำไรต่อ AUM’ สูงสุดในปี18 ที่ผ่านมา ได้แก่ ‘บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ปทท.)’ ด้วยสัดส่วน 0.38%”
“บลจ.อินโนเทค”...มี ‘กำไรต่อ AUM’ ต่ำสุด -73.61%
ส่วนบลจ.ไหนที่ยังมีผลการดำเนินงานเป็น ‘ขาดทุน’ อยู่นั้น ตัวเลขดังกล่าวก็จะมีค่า ‘ติดลบ’ ตามไปด้วย
ในอดีตก็เคยมีการตั้งข้อกังขาอยู่เช่นกัน ถึงผลประกอบการของบลจ. เฉพาะในบลจ.ที่ทำธุรกิจแล้วแสดงผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ไม่สามารถกลับมามีกำไรได้เลยว่า...แล้วจะทำธุรกิจไปทำไม ในเมื่อธุรกิจแน่นอนย่อมต้องสร้างสมดุลระหว่างผลประกอบการเป็นกำไรให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น พนักงาน แล้วก็บริหารกองทุนให้ดีเพื่อผู้ถือหน่วยลงทุน
“สุดท้ายก็ไร้คำตอบเพราะผลประกอบการของ ‘บลจ.’ ไม่ได้เกี่ยวกันกับ ‘กองทุน’ แต่ประการใดในทางตรง แต่ในทางอ้อมก็ไม่แน่เหมือนกัน ก็ยังคงเป็นปริศนาธรรมทิ้งเอาไว้ให้สงสัยกันต่อไปจนถึงปัจจุบัน”
โดยบลจ.ที่มีสัดส่วน ‘กำไรต่อ AUM’ น้อยสุดนั้น ได้แก่ “บลจ.อินโนเทค” ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูเท่าไร แต่ถ้าบอกว่านี่คืออดีต ‘บลจ.โซลาริส’ เชื่อว่าน่าจะคุ้นหูมากขึ้น
สุดท้ายก็ขอย้ำว่า... “กองทุนรวม” มีสถานะแยกออกจาก “บลจ.” ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่ประการใด หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย