การเงินเชิงพฤติกรรมกับการบริหารความมั่งคั่ง (4)

>>

ตอนที่ 4: อัตราส่วนการทดแทนรายได้ (Income Replacement Ratio)


ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งสำหรับการวางแผน
‘การเงินเพื่อวัยเกษียณ’ คือ การคาดการณ์เกี่ยวกับเงินที่เราต้องการ ณ วันเกษียณ เพื่อเอาไว้จับจ่ายใช้สอยหลังเกษียณ จำนวนเงินที่ต้องการจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ในวัยหลังเกษียณ เช่น บางคนอยากนั่งเครื่องบินเพื่อเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกเพราะในวัยทำงานได้แต่นั่งในรถยนต์วันละ 4-5 ชั่วโมงเพื่อเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน


หรือบางคนอาจมีแนวคิดที่จะย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ คนส่วนใหญ่จะคาดการณ์รายได้ที่ต้องการสำหรับวัยหลังเกษียณในรูปแบบของจำนวนเงิน เช่น การต้องการรายได้ในวัยเกษียณเดือนละ 30,000 บาท


แต่โดยหลักการแล้ว การคาดการณ์รายได้หลังเกษียณควรทำในรูปแบบของสัดส่วนของรายได้ที่ต้องการในวัยเกษียณเทียบกับรายได้ในวัยทำงาน หรือที่เรียกกันว่า “อัตราส่วนการทดแทนรายได้ (Income Replacement Ratio) ซึ่งอัตราส่วนนี้จะเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและมักจะกำหนดให้ Income Replacement Ratio มีค่าเท่ากับ 0.7 (Ackert and Deaves, 2010) ซึ่งหมายความว่า คนส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในวัยเกษียณด้วยรายได้คิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ในวัยทำงาน


สาเหตุที่การพยากรณ์รายได้ที่ต้องการในวัยเกษียณควรทำในรูปแบบของ สัดส่วน มากกว่า ‘จำนวนเงิน’ เนื่องจากบุคคลที่มีระดับรายได้แตกต่างกันย่อมมีมาตราฐานของการครองชีพที่ แตกต่างกันซึ่งเป้าหมายของการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณที่เหมาะสมคือ การพยายามรักษามาตราฐานของการครองชีพในวัยก่อนและหลังเกษียณให้คงเดิม


ยกตัวอย่างเช่น ถ้า นาย ก มีรายได้ในวัยทำงานเดือนละ 70,000 บาท และนาย ข มีรายได้ในวัยทำงานเดือนละ 200,000 บาท โดยที่ นาย ก และ นาย ข มีรายได้หลังเกษียณเท่ากันเดือนละ 50,000 บาท ซึ่งถ้าพิจารณาเพียงจำนวนเงินเดือนละ 50,000 บาท อาจทำให้เข้าใจผิดว่านาย ก และ นาย ข น่าจะดำรงชีวิตได้อย่างสบายๆ ในวัยหลังเกษียณ


แต่เมื่อพิจารณารายได้ในวัยหลังเกษียณเทียบกับรายได้ในวัยก่อนเกษียณ พบว่า นาย ข น่าจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่านาย ก เพราะนาย ข มี Income Replacement Ratio เพียง 25% ในขณะที่นาย ก มี Income Replacement Ratio สูงถึง 71%


“ดังนั้นข้อควรระวังสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณคือ เราจะต้องไม่พยายามคิดว่า ถ้าคนอื่นต้องการเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในวัยหลังเกษียณ เช่น 50,000 บาทต่อเดือน แล้วเราจะสามารถดำรงชีวิตในวัยหลังเกษียณได้ด้วยเงินจำนวนที่เท่ากัน โดยที่มาตราฐานการครองชีพของเราจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงระยะเวลาก่อนการเกษียณ”


เราต้องอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญของการวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณคือ  
จำนวนเงินต่อเดือน’ สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณต้องเพียงพอที่จะรักษามาตราฐานของการครองชีพในวัยหลังเกษียณให้ใกล้เคียงกับวัยก่อนเกษียณ


อ้างอิง:

Ackert, L. F. and Deaves, R. (2010). “Behavioral Finance: Psychology, Decision-Making, and Markets”, South-Western, Cengage Learning.