นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมอาจจะเกิดข้อสงสัย เกี่ยวกับราคา NAV ของกองทุนรวม ทำไมราคา NAV ของกองทุนจึงเปลี่ยนไปทุกวัน
ยิ่งถ้าวันไหนติดลบ ยิ่งทุกข์ใจ อยู่ดีๆ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า NAV เกิดลดลง
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือ Net Asset Value (NAV) ที่มีการประกาศตอนสิ้นวันทำการนั้น เกิดจากการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่อยู่ในการถือครองของกองทุนในช่วงเวลานั้นๆ เป็นตัวที่จะสะท้อนถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนลงทุนในแต่ละขณะ
ปัจจุบัน วิธีการคิดคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าต่อหน่วยของกองทุนรวมนั้น ต้องเป็นไปตามหลักการมูลค่ายุติธรรม ซึ่งจะใช้ราคาตลาดของหลักทรัพย์ในการคำนวณ หรือที่เรียกว่า Mark to Market เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ดังนั้น NAV จึงมีโอกาสที่จะขึ้นหรือลง
การ Mark to market ก็คือ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ให้เป็นมูลค่าตามตลาดหรือราคาตลาดปัจจุบัน
เช่น กองทุน A ต้องการลงทุนในหุ้น PTT ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุน A จึงซื้อหุ้น PTT ในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน กองทุน A ต้องการขายหุ้น PTT ก็ต้องขายในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น เช่นเดียวกัน ซึ่งราคาอาจจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่ากับราคาซื้อที่ซื้อมาก็ได้
ถ้าเป็นหุ้น ราคาตลาดก็ใช้ราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลายคนอาจจะสงสัย แล้วราคาตลาดของตราสารหนี้มาจากที่ใด
ปัจจุบัน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ทำหน้าที่เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่มูลค่ายุติธรรมตราสารหนี้ ให้แก่นักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เมื่อสิ้นวัน
หลายท่านมีประสบการณ์มาจากการฝากเงิน หรือซื้อตราสารหนี้ด้วยตนเอง ไม่เคยต้องประเมินมูลค่า เลยไม่เคยเห็นมูลค่าตราสารหนี้ที่ถือติดลบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตราสารหนี้เมื่อนำมาประเมินมูลค่ายุติธรรมก็ยังติดลบได้ ที่คำนวณออกมาแล้วติดลบ ก็เป็นเรื่องของการ Mark to Market เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หากผู้ออกตราสารนั้นยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน เราก็จะได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้ายคืนตามสัญญา
แล้วทำไมต้อง Mark to Market ด้วย
กองทุนรวมจะมีผู้ลงทุนเข้าๆ ออกๆ อยู่ตลอดเวลา การ Mark to Market เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์สินและผลประโยชน์ของกองทุน ให้แก่สมาชิกกองทุนทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการได้เปรียบ สียเปรียบ สำหรับนักลงทุนเก่าและนักลงทุนใหม่ เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างเช่น หากเราลงทุนในกองทุนรวมหุ้นอยู่แล้ว วันนี้ มูลค่าหุ้นที่กองทุนถืออยู่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีการ Mark to Market ให้ NAV สูงขึ้นตาม ผู้ลงทุนใหม่ที่เข้าลงทุนวันนี้ ก็จะได้เปรียบซื้อหน่วยลงทุนในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมก็จะเสียเปรียบหากขายหน่วยลงทุนออกจากกองทุนจะได้รับเงินที่ต่ำเกินไป
ในทางกลับกัน หากมูลค่าหุ้นที่กองทุนถืออยู่อยู่ลดลง หากไม่มีการ Mark to Market เพื่อปรับ NAV ให้ลดลง จะกลายเป็นว่าผู้ลงทุนใหม่ที่เข้ามาในช่วงนั้น จะต้องซื้อหน่วยลงทุนแพงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน หากมีผู้ลงทุนเดิมต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในช่วงนั้น ก็จะได้รับเงินคืนมากเกินไป
หวังว่านักลงทุนมือใหม่หลายๆ ท่านจะได้คลายกังวล และเข้าใจกันแล้วว่า ทำไมต้องกองทุนต้อง Mark to Market และทำไมราคา NAV ของกองทุนจึงเปลี่ยนไปทุกวัน